ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนเมษายน 2559


2 พ.ค. 2559

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2559 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 47.1 เพศหญิง ร้อยละ 52.9 และส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 35 – 44 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.9 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 47.4  

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้เดือนเมษายน เปรียบเทียบเดือนมีนาคม 2559 และคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า

1.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2559 อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายจ่ายของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ก็ลดลง โดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน  

ทั้ง นี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสในการหางานทำ  รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าโดยรวม และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจภาคใต้ โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ราคายังไม่แน่นอน รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินด้านต่าง ๆ

ใน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อรายได้จากการทำงาน ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 62 บาท (การยางแห่งประเทศไทย, 29 เม.ย. 2559)  ส่วนปาล์มน้ำมัน ราคารับซื้อ ณ โรงงาน ปาล์มทะลายแบบคละอยู่ที่ 5.10 – 5.60 บาท (กรมการค้าภายใน, 29 เม.ย. 2559)  ทั้งนี้ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูแล้งมีผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อย จึงส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น  อย่างไรก็ตามราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้ยังไม่มีความ แน่นอนและยั่งยืน  ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันไม่ลดต่ำลง รวมถึงพยายามทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

ในส่วนดัชนีความ เชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในเดือนเมษายน เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวันหยุดยาวติดกันหลายวัน ซึ่งเหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้  อีกทั้งรัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล สงกรานต์และสนับสนุนการท่องเที่ยวในไทย

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คิดเป็นร้อยละ 62.9 และ 61.7 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 26.6 และ 20.5 ที่คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงาน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายด้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 26.6 และ 23.4 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกระตุ้นให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งในเดือนพฤษภาคมจะมีวันหยุดหลายวัน ได้แก่ วันแรงงาน วันวิสาขบูชา และวันหยุดที่รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยประกาศให้วันที่ 6 พฤษภาคม 2559  เป็นวันหยุดต่อเนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล ทำให้มีวันหยุดยาวคือ วันที่ 5-9 พฤษภาคม 2559

ปัจจัย ที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ การว่างงาน คิดเป็นร้อยละ 21.9 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ การเมือง และหนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 17.5  14.6 และ 11.7 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็น อันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ การว่างงาน เศรษฐกิจทั่วไป และหนี้สินครัวเรือน ตามลำดับ