นายหนังตะลุง มรภ.สงขลา คว้าถ้วยพระราชทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ


4 พ.ค. 2559

สุดเจ๋ง นักศึกษาพัฒนาชุมชน มรภ.สงขลา โชว์ลีลานายหนังรุ่นใหม่ ชนะเลิศประกวดหนังตะลุงรณรงค์ป้องกันและแก้ไขยาเสพติด คว้าถ้วยพระราชทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ

74.jpg

เมื่อเร็วๆ นี้ นายจิตติกรณ์ บัวเพชร หรือ “ป้อ” นักศึกษาปี 3 โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วยคณะนักดนตรีในคณะหนังตะลุง ชายป้อ ประทุมศิลป์ คว้ารางวัลชนะเลิศประกวดหนังตะลุงรณรงค์ป้องกันและแก้ไขยาเสพติด ชิงถ้วยพระราชทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ พร้อมรับเงินรางวัลกว่า 22,000 บาท จาก ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ณ วัดสว่างอารมณ์ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

นายจิตติกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2558 ตนได้รับรางวัลรองชนะเลิศประกวดหนังตะลุงจากรายการเดียวกัน และได้ลงประชันหนังตะลุงอีกครั้งในปีนี้ การแข่งขันแบ่งเป็นสองรอบ คือรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ จับฉลากว่าใครเล่นก่อนหลัง โดยมีนายหนังตะลุงเข้าร่วมแข่งขัน 4 คณะ ได้แก่ 1. หนังชายน้อย สุนทรศิลป์ จาก มรส. 2. หนังแบงค์ อ้ายลูกหมี จาก มรภ.นครศรีธรรมราช 3. หนังชายป้อ ประทุมศิลป์ จาก มรภ.สงขลา และ 4. หนังบูม พสุธา จาก ม.วลัยลักษณ์

ผลปรากฏว่านายหนังตะลุงที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ คือ หนังชายป้อและหนังแบงค์ ตนทำการแสดงหนังตะลุงในเรื่องเด็กเสเพล เป็นนิยายชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่งที่เกิดมาในตระกูลอันสูงศักดิ์ แต่โชคชะตากลับเล่นตลกผลักดันให้ต้องพบกับความลำบากแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกรูปแบบเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ โดยตนได้พยายามสอดแทรกสิ่งที่อยู่ในเกณฑ์ของกรรมการทุกอย่าง

นายจิตติกรณ์ กล่าวว่า หลังจากแสดงเสร็จก็รอผลการตัดสิน เมื่อกรรมการโทรมาบอกว่าได้รับรางวัลชนะเลิศก็รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะทั้งชีวิตพยายามฝึกฝีมืออย่างหนักจนมีวันนี้ ถ้วยพระราชทานที่ได้มามีค่าสูงสุด และเป็นสิ่งเพิ่มกำลังใจให้แก่นายหนังตะลุงอย่างตน ซึ่งรางวัลที่ได้มาเป็นของทุกคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ หากไม่มีพ่อแม่ ครูอาจารย์ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ตนคงไม่มีวันนี้ ทุกคนคือผู้มีพระคุณ ซึ่งหลังจากเรียนจบปริญญาตรี คิดว่าจะยึดหนังตะลุงเป็นอาชีพรอง ไม่ทิ้งไปเด็ดขาด ต้องรักษาเอาไว้ สำหรับตนหนังตะลุงได้เข้าไปอยู่ในสายเลือด แม้ไม่ได้แสดงแต่ขอให้ได้จับตัวหนัง ได้ฟังหนังตะลุงก็มีความสุขแล้ว และหากมีผู้สนใจตนก็พร้อมจะถ่ายทอดหนังตะลุงให้ เพราะถือว่าได้มาอย่างไรก็ต้องถ่ายทอดอย่างนั้น

สำหรับเส้นทางการเข้าสู่วงการหนังตะลุง นายจิตติกรณ์ เริ่มหัดหนังตะลุงตั้งแต่อายุ 4  ขวบ พ่อกับแม่พาไปเที่ยวงานวัด และทางวัดได้รับหนังตะลุงมาแสดง ในขณะที่เด็กคนอื่นอยากได้ของเล่น แต่เขากลับวิ่งไปดูหนังตะลุงอย่างเดียว พยายามทุกอย่างเพื่อจะดูหนังตะลุงให้ได้ เมื่อพ่อแม่พากลับบ้านก็ร้องจนหมดเสียงจนถึงบ้าน หลังจากนั้นเวลาพ่อพาไปไหนหากพบเห็นร้านขายรูปหนังตะลุง ก็รบเร้าจะซื้อให้ได้ ท่านก็เริ่มเดาออกว่าชอบหนังตะลุง และให้การสนับสนุนเรื่อยมา

ซึ่งปกติการหัดหนังตะลุงต้องเริ่มจากครอบครัวมีเชื้อสายนายหนัง หรือคนในตระกูลเล่นหนังตะลุง แต่ครอบครัว นายจิตติกรณ์ ไม่มีใครเล่นหนังตะลุงเลย เมื่อพ่อเห็นว่าสนใจจริงจังจึงนำไปฝากกับศูนย์การเรียนรู้หนังตะลุงกลุ่มศรีวิชัย บ้านต้นตอ อ.ควนเนียง จ.สงขลา เป็นผู้เรียนที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่ม และได้เริ่มหัดหนังตะลุงโดยมี หนังเศียร ตะลุงศิลป์ เป็นครูคนแรก หลังจากนั้นจึงหัดอย่างเอาจริงเอาจังกับ หนังวัน ควนเนียง และต่อมาได้ไปฝากตัวกับ หนังแต๋ว ศ.นครินทร์ ได้เรียนรู้จากท่านหลายอย่าง จนได้พบกับ หนังลูกหมี วงศ์ชู และได้ฝากตัวเป็นศิษย์

นายจิตติกรณ์ เริ่มแสดงหนังตะลุงสู่สายตาสาธารณชนเมื่อปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมีทีมงานลูกคู่อยู่เบื้องหลังคอยให้ความช่วยเหลือตลอดมา ผู้นำทีมงานคือ น้าโชว์ (นายประโชว์ บุญรอง) และลูกคู่เยาวชนคนควนเนียง ผ่านการแสดงมาหลายงาน แข่งขันมาหลายสนาม ไม่เคยชนะเลยสักครั้ง แต่ก็ไม่เคยท้อถอย ยังคงให้ความศรัทธากับคู่แข่งทุกคนว่าคือครูชั้นยอด ที่ช่วยขัดเกลาในสิ่งที่ผิดพลาดให้เด่นชัด ถึงแม้จะไม่บอกโดยตรง แต่สามารถเห็นข้อผิดพลาดได้ ทั้งอาจารย์หนัง ผู้ชมที่คอยเตือน คอยสอนทุกอย่าง จนตนมีวันนี้ได้ก็ด้วยท่านเหล่านี้ชี้แนะ

73.jpg75.jpg76.jpg77.jpg