พาสัมผัส ​ชุมชนท่องเที่ยวบ้านโคกเมือง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา (ตอนที่ 1)


22 เม.ย. 2564

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านโคกเมือง หมู่ที่ 12 ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

บ้านโคกเมือง เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเชื่อมโยงไปตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีวิชัย ที่นี่เป็นหมู่บ้านริมทะเลสาบสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของที่ตั้งเมืองรัตภูมิ ซึ่งในอดีตอยู่ในเขตปกครองของเมืองพัทลุง อยู่ติดกับบ้านปากบางภูมี ที่ตั้งของวัดคงคาวดี อีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์



ที่มาของชื่อบ้านโคกเมือง มาจากคำว่า “โคก” ที่คนในพื้นที่ใช้เรียกแทนลักษณะภูมิศาสตร์ของพื้นที่ หมายถึง ที่ราบสูง ที่ราบน้ำท่วมไม่ถึงในฤดูน้ำหลาก และคำว่า “เมือง” คือถิ่นฐานดั้งเดิมของความเป็นเมืองเก่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีหลักเมือง ซึ่งมีทวดหลักเมืองประดิษฐานอยู่บริเวณด้านข้างหลักเมืองเป็นแหล่งน้ำเก่าแก่เรียกว่า “คูเมือง” ที่นี่มีพื้นที่ติดทะเลสาบสงขลา มีความอุดมสมบูรณืทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย

เมื่อมาเที่ยวโคกเมือง ก็ต้องแวะที่วัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี มาสักการะหลวงพ่อสงค์ ศรีสุวรรณโณ อดีตเจ้าอาวาส พระผู้มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ และมีอาคมเก่งกล้าทางมหาอุตม์ อันเป็นที่ประจักษ์ในวัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างไว้ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่ดึงดูดให้พุทธศาสนิกชนแวะมาทำบุญที่วัดแห่งนี้ไม่ขาดสาย ภายในวัดมีความเงียบสงบ ร่มรื่น มีการสร้างกุฏิดิน มีบ่อเลี้ยงปลาที่มีปลาขนาดใหญ่จำนวนมากสามารถให้อาหารกันได้ด้วย



และมาที่นี่ต้องไปชมจิตรกรรมฝาพนังในศาลาการเปรียญหลังใหม่ ซึ่งวาดโดย “ครูจูหลิง ปงกันมูล” (อดีตครูที่เสียชีวิตจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้) ที่วาดไว้เมื่อปี พ.ศ.2545 ในช่วงก่อนที่จะสอบบรรจุเป็นครูศิลปะในจังหวัดนราธิวาส ครูจูหลิง ได้มาวัดคงคาวดี ที่นี่มีจิตรกรรมทั้งในโบสถ์และในศาลาการเปรียญ โดยเขียนไว้บนพนังด้านในบริเวณเหนือหน้าต่างทั้งสี่ด้าน มีความประณีตละเอียดงดงามน่าชมอย่างยิ่ง

เรื่องราวของวิถีชีวิต วิถีชุมชนของบ้านโคกเมือง มีความน่าสนใจมากมาย รอติดตามกันได้ในตอนที่ 2 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา โทร 074-311674 ‭สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอควนเนียง โทร 074-432318 ชุมชนท่องเที่ยวบ้านโคกเมือง 081-0934714


---------------------

ข้อมูลประกอบเพิ่มเติม

"ประวัติชุมชนบ้านโคกเมือง"

บ้านโคกเมือง เดิมเป็นที่ตั้งของเมือง “รัตภูมิ” ซึ่งเป็นเมืองเก่าในอดีต ที่มาของชื่อบ้านโคกเมือง มาจากคำว่า “โคก” ที่คนในพื้นที่ใช้เรียกแทนลักษณะภูมิศาสตร์ของพื้นที่ หมายถึง ที่ราบสูง ที่ ราบน้ำท่วมไม่ถึงในฤดูน้ำหลาก และคำว่า “เมือง” คือถิ่นฐาน ดั้งเดิมของความเป็นเมืองเก่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีหลักเมือง ซึ่ง มีทวดหลักเมืองประดิษฐานอยู่บริเวณด้านข้างหลักเมืองเป็นแหล่งน้ำเก่าแก่เรียกว่า “คูเมือง” มีการค้นพบสมอเรือและอุมาลึงค์ (ก้อนหินโบราณ) ในบริเวณดังกล่าวด้วย

ทวดหลักเมือง เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนมีความศรัทธาและให้ความเคารพนับถือ เป็นความเชื่อจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น และมีคนในชุมชนนิมิตเห็นทวดหลักเมือง จึงได้สร้างทวดหลักเมืองตามนิมิตเป็นรูปปั้นขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีไว้บูชาและบนบานศาลกล่าวของคนในชุมชนบ้านโคกเมืองมาอย่างยาวนาน

เรื่องเล่าเมื่อครั้งอดีต “อุมาลึงค์” มีการเล่ากันว่า ได้พบ “อุมาลึงค์” ก้อนหินโบราณมีลักษณะคล้าย ฐานโยนี ที่พบเห็นกันทั่วไปในปราสาทเมืองเก่า โดยพบใกล้บริเวณสถานที่ตั้งทวดหลักเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 มีนักศึกษา (มหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน) ทราบว่าแท่นโยนี ดังกล่าวถูกเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จากเรื่องราวดังกล่าวชาวบ้านมีความเชื่อว่าชุมชนบ้านโคกเมือง เคยเป็นเมืองเก่าในอดีต โดยชุมชนมีแนวคิดที่จะทำ “แทนโยนี” จำลองขึ้นใหม่เพื่อคงไว้ซึ่งประวัติทวดหลักเมืองสืบไป

วัดคงคาวดี

เมื่อมาเที่ยวชุมชนบ้านโคกเมืองก็ต้องเข้าไปสักการะ “หลวงพ่อสงค์ ศรีสุวรรณโณ” แห่งวัดคงคาวดี หรือชื่อเดิมว่า “วัดปากบางภูมี”

หลวงพ่อสงค์ ศรีสุวรรณโณ พระผู้มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ และมีอาคมเก่งกล้าทางมหาอุตม์ อันเป็นที่ประจักษ์ในวัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างไว้ รวมทั้งอภินิหารที่ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ท่านได้มรณภาพไปแล้ว พ่อท่านสงค์ เป็นศูนย์รวมจิตใจที่ดึงดูดให้พุทธศาสนิกชนแวะมาทำบุญที่วัดแห่งนี้ไม่ขาดสาย สวนใหญ่มาขอพรและบนบานเรื่องต่างๆ

และไปชมจิตรกรรมฝาพนังในศาลาการเปรียญหลังใหม่ ซึ่งวาดโดย “ครูจูหลิง ปงกันมูล” ครู และเพื่อนนิสิตรวม ๗ คนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ในช่วงก่อนที่ครูจูหลิงจะสอบบรรจุเป็นครูศิลปะในจังหวัดนราธิวาสได้ วัดคงคาวดีมีจิตรกรรมทั้งในโบสถ์และในศาลาการเปรียญ โดยเขียนไว้บนพนังด้านในบริเวณเหนือหน้าต่างทั้งสี่ด้าน
พระครูวิบล เล่าย้อนว่า เมื่อหลายปีก่อนวัดเล็กๆ แห่งนี้ ต้องการสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับเรื่องราวพุทธประวัติ แต่ไม่มีปัจจัยเพียงพอที่จะจัดจ้างช่างศิลป์ในราคาสูง กระทั่งชาวบ้านละแวกวัดได้นำกลุ่มศิลปินอิสระที่ทำงานศิลปะในพื้นที่ใกล้เคียงมาช่วยงานภายในวัด และมีโอกาสเห็นฝีมือและความตั้งใจของ “ครูจูหลิง” จึงมอบความไว้วางใจให้แสดงฝีมือรังสรรค์งานจิตกรรมในอุโบสถ รวมถึงศาลาโรงธรรม ซึ่งไม่ทำให้ผิดหวังเลยแม้แต่น้อย

งานศิลปะฝาผนังภายในวัดแห่งนี้ ที่รังสรรค์จากปลายพู่กันของครูจูหลิง ล้วนงดงาม วิจิตรบรรจง ทั้งลายเส้น และสีสันที่ใช้แต่งแต้มเพื่อดำเนินเรื่องราวของพุทธองค์ และพุทธประวัติ ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นพระลูกวัด ชาวบ้านที่มาทำบุญ หรือคนที่แวะเวียนมายังศาสนสถานแห่งนี้ ต่างระลึกถึงคุณงามความดีของ "ครูจูหลิง" ครูที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดเท่านั้น แต่ครูจูหลิง ยังเป็นผู้จุดประกายความคิดสร้างบ้านดิน เพื่อถวายเป็นกุฏิให้แด่พระสงฆ์ภายในวัดแห่งนี้อีกด้วย

วัดคงคาวดี มีความตั้งใจที่จะต่อยอดผลงานของครูจูหลิง เพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องในคุณงามความดีที่ได้ทำไว้แด่พระพุทธศาสนา ด้วยการอนุรักษ์บ้านดิน ๒ หลังแรกที่เป็นผลงานของครูคนนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไป ขณะเดียวได้สร้างบ้านดินเพิ่มอีก ๗ หลัง เพื่อร่วมสืบสานปณิธานของแม่พิมพ์ผู้จากไป ส่วนผลงานจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดก็จะใช้เป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน และนักศึกษาที่สนใจงานศิลปะแนวพุทธศิลป์ ให้สมกับความตั้งใจของครูผู้อุทิศตนแก่พุทธศาสนา เมื่อครั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่ และที่สำคัญอนุสรณ์สถานทุกอย่างที่เกิดจากความตั้งใจของครูจูหลิงจะได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผู้ที่ได้ชื่อว่าทำหน้าที่ “ความเป็นครู” อย่างสมบูรณ์แบบคนหนึ่งตลอดไปตราบนานเท่านาน

นอกจากนี้ บรรยากาศบริเวณรอบๆ วัดยังมีความร่มรื่น ล้อมรอบด้วยต้นไม้มากมาย รวมทั้งยังมีกุฏิพระที่สร้างด้วยดิน เรียกว่า “กุฎิดิน”(บ้านดิน) หลายหลัง ซึ่งมีความสวมงาม แปลกตา และเมื่อเดินไปเรื่อยๆ จะพบกับศาลากลางน้ำ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน พร้อมกับการให้อาหารปลา อีกทั้ง ยังมีอุโมงค์ดินให้นักท่องเที่ยวได้เดินชม และได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย

แก้ไขข้อความ