สิ้นสุดการแข่ง ACM-ICPC World Finals 2016 ตัวแทนประเทศไทย จบที่อันดับ 118


21 พ.ค. 2559

ทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าแชมป์ การแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ACM-ICPC World Finals 2016 ที่ จ.ภูเก็ต ขณะที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ส่งต่อเจ้าภาพปีต่อไปให้กับ South Dakota School of Mines and Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา

S__9798040.jpg

วันนี้ (19 พ.ค. 59) เวลา 16.00 น. ที่สนามกีฬาเทศบาลนครภูเก็ต ศูนย์กีฬาสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ACM-ICPC World Finals 2016 โดยมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งมีชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากนับพันคน ซึ่งตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดให้มีการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับโลก ACM-ICPC World Finals 2016 โดยมีผู้เข้าแข่งขันจำนวน 128 ทีม จาก 40 ประเทศทั่วโลก

สำหรับผลการแข่งขันในครั้งนี้ ทีมมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท คว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศไปครองได้เป็นแชมป์ในรายการดังกล่าว ตามมาด้วยทีมมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ทีมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมสถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโคว รั้งอันดับสอง สาม และสี่ โดยทั้งหมดได้รับเหรียญทอง ขณะที่ทีมชนะเลิศระดับภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยไคโร ทีมชนะเลิศภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง ทีมชนะเลิศภูมิภาคเอเชีย มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท ทีมชนะเลิศภูมิภาคยุโรป มหาวิทยาลัยแห่งชาติโรซาริโอ ทีมชนะเลิศภูมิภาคลาตินอเมริกา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทีมชนะเลิศภูมิภาคอเมริกาเหนือและมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ทีมชนะเลิศภูมิภาคแปซิฟิคใต้ ส่วนทีมที่ทำคะแนนได้สูงสุดจำนวน 12 ทีม และได้รับเหรียญรางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กสเตท มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันฟิสิกส์และเทคโนโลยีมอสโคว , มหาวิทยาลัยวอร์ซอว์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไอทีเอ็มโอ มหาวิทยาลัยยูรัลเฟเดอรัล มหาวิทยาลัยวรอคลาว มหาวิทยาลัยนิชนีย์นอฟโกรอดสเตท มหาวิทยาลัยแห่งชาติลวิฟ และมหาวิทยาลัยฟูตัน

ด้านตัวแทนประเทศไทย ได้แก่ ทีม CUCP Meow Meow : 3 นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในอันดับที่ 118 และได้รับรางวัลในการแก้โจทย์ Problem C ได้เร็วที่สุดเป็นทีมแรก โดยใช้เวลาเพียง 11 นาทีเท่านั้น ส่วนทีม FEDEX ซึ่งเป็นนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ในอันดับที่ 128 โดยเป็นหนึ่งในทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับโลก จากนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์กว่า 300,000 คน ใน 2,736 มหาวิทยาลัย 6 ทวีปทั่วโลก

ทั้งนี้ในปีต่อไป ทาง South Dakota School of Mines and Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา รับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าว

S__9798043.jpgS__9798044.jpgS__9798045.jpgS__9798046.jpgS__9798047.jpgS__9798048.jpgS__9798049.jpgS__9798050.jpgS__9798051.jpgS__9797882.jpg