​มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่


22 ก.พ. 2564

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ได้ขยายขอบเขตไปในวงกว้างกระจายหลายพื้นที่ ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงินบางแห่งอาจทยอยครบกำหนดไปบ้างแล้ว ดังนั้นเพื่อให้ลูกหนี้ยังคงได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แบงก์ชาติจึงได้ขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการทางการเงินได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 64 จากเดิมที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 63 โดยมีหลักเกณฑ์การเข้าร่วมคือ ลูกหนี้ต้องเป็นผู้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากแบงก์เจ้าหนี้ และต้องมีประวัติการชำระหนี้เป็นปกติ ไม่เป็น NPL หรือ ค้างชำระเกิน 3 งวดติดต่อกัน ณ วันที่ 1 มีนาคม 63 โดยความช่วยเหลือขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้รายย่อยแบ่งตามประเภทสินเชื่อได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือ ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12% ซึ่งจะช่วยลดภาระจ่ายหนี้ต่อเดือน นอกจากนี้อาจได้รับการพิจารณาให้ใช้วงเงินหมุนเวียนที่เหลือได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน อีกทั้งในปี 2564 บัตรเครดิตยังกำหนดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำอยู่ที่ 5% จากนั้นในปี 2565 จะอยู่ที่ 8% และในปี 2566 จะเป็นอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำตามเดิมคือ 10%

กลุ่มที่ 2 สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด จะได้รับการลดอัตราผ่อนขั้นต่ำลงตามความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ หรือ สามารถเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด หรือ ขยายเวลาชำระหนี้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% นอกจากนี้อาจได้รับการพิจารณาให้ใช้วงเงินหมุนเวียนที่เหลือได้เช่นกันหากสถาบันการเงินประเมินว่าลูกหนี้ยังสามารถชำระหนี้ได้

กลุ่มที่ 3 สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะได้รับการลดค่างวดอย่างน้อย 30% โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22%

กลุ่มที่ 4 สินเชื่อเช่าซื้อ เช่น เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ เช่าซื้อรถยนต์ เป็นต้น จะได้รับการเลื่อนชำระค่างวด (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดโดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้

กลุ่มที่ 5 สินเชื่อบ้าน จะได้รับการเลื่อนชำระค่างวด (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 3 เดือน หรือเลื่อนชำระต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสมหรือตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย หรือลดค่างวดโดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี การเลื่อนชำระค่างวดนั้น ลูกหนี้ยังต้องทยอยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่ขอเลื่อนไว้ในภายหลัง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าถึงความช่วยเหลือได้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในครั้งนี้ ได้เพิ่มทางเลือกให้เจ้าของกิจการสามารถยื่นสมัครขอรับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการทางการเงินแทนลูกจ้างได้ ในกรณีที่เจ้าของกิจการมีสินเชื่อสวัสดิการ หรือสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ ให้แก่ลูกจ้างอยู่กับสถาบันการเงินนั้น ๆ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างร่วมด้วย ซึ่งนายจ้างสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันการเงินที่ใช้บริการสินเชื่อสวัสดิการอยู่

เรียกได้ว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือนี้ จะทำให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ลดปัญหาภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน ลดโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ หรือการเสียประวัติเครดิตบูโร อย่างไรก็ดี มาตรการให้ความช่วยเหลือนี้ เป็นเพียงหลักเกณฑ์ขั้นต่ำซึ่งสถาบันการเงินอาจมีข้อเสนอในการช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่านี้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ลูกหนี้ติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อเร่งหาทางแก้ไขหนี้สินโดยเร็ว ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Call Center Mobile Application หรือสาขาธนาคาร หากไม่สามารถติดต่อได้ สามารถกรอกข้อมูลเพื่อขอรับความช่วยเหลือทางเว็บไซต์ “ทางด่วนแก้หนี้” ได้ และอีกหนึ่งช่องทางติดต่อของแบงก์ชาติ สายด่วน 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน


ผู้จัดทำ : ญาณิศรา ศตะรัต

ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย