​มทร.ศรีวิชัย คว้า 14 รางวัล ประกวดผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติ


1 ก.ย. 2564

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย คว้า 14 รางวัลเกียรติยศ 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 7 รางวัลพิเศษ จากทุน ววน. สกสว. บพท. วช. ประจำปีงบประมาณ 2563ในการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ “International Invention Innovation Competition in Canada, iCAN 2021 ณ ประเทศแคนนาดา“ โดยมีนักวิจัย ทั่วโลกส่งผลงานประกวดกว่า 70 ประเทศ รวมกว่า 700 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่มุ่งเน้นพัฒนาเพื่อสังคม และภูมิภาคของแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ

ศ.ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี และ ผศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งคณะผู้บริหาร คณะดำเนินงาน นำทีมนักวิจัยส่งผลงานเข้าประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติ ผ่านระบบออนไลน์

รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมระบบเลี้ยงหอยนางรมระยะกึ่งวัยรุ่นด้วยตะแกรงพลาสติกแบบเลื่อน 3 ชั้น (สิทธิบัตรออกแบบ คำขอเลขที่ 2102002456) ผลงานของ ดร.สุพัชชา ชูเสียงแจ้วศ.สุวัจน์ ธัญรส อาจารย์เตือนใจ ปิยัง อาจารย์กัตตินาฏ สกุลสวัสดิ์พันธ์ และอาจารย์ภูมินทร์ อินทร์แป้น การเพาะเลี้ยงหอยนางรมด้วยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ตาข่ายพลาสติกเลื่อน 3 ชั้นตาข่ายมีแนวโน้มมากที่จะสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นและแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มความหนาแน่นของการปล่อยหอยนางรมเด็กเมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงหอยนางรมแบบดั้งเดิม เนื่องจากข้อดีของวิธีนี้มีอัตราการรอดชีวิตสูง ส่งเสริมเติบโตเร็วขึ้นและลดต้นทุน ให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพที่โดดเด่นของหอยนางรมที่ชุมชนสนับสนุนเกษตรกรในประเทศไทย

รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมเครื่องคั่วกาแฟโอ่งสำหรับชุมชน (อนุสิทธิบัตร คำขอเลขที่ 2003003311) ผลงานของ ผศ.ดร.เสาวณีย์ ชัยเพชร ผศ.วรพงศ์ บุญช่วยแทน ผศ.ดร.กฤตยา หนูสาย ผศ.จักรนรินทร์ ฉัตรทอง และอาจารย์สหพงศ์ สมวงศ์ เครื่องคั่วกาแฟโอ่งสำหรับชุมชน จะใช้โอ่งมังกร 2 ใบ โอ่งใบนอกออกแบบเพื่อให้สามารถเก็บอุณหภูมิที่จะใช้ในการคั่วเมล็ดกาแฟ และโอ่งใบด้านในมีขนาดเล็กกว่าจะใช้แทนถังคั่วเมล็ดกาแฟ การคั่วเมล็ดกาแฟด้วยวัสดุที่ทำจากดินเผาส่งผลให้เมล็ดกาแฟมีความหอมกว่า สามารถคั่วเมล็ดกาแฟได้ครั้งละประมาณ 1 กิโลกรัม โดยเริ่มต้นการใช้งานใส่เมล็ดกาแฟจากช่องใส่ด้านบน ลงไปยังโอ่งใบด้านในที่ใช้ทำการคั่ว จากนั้นเปิดสวิตซ์มอเตอร์ถังจะหมุนตามเข็มนาฬิกา เมื่อคั่วเมล็ดกาแฟได้ระดับการคั่วที่ต้องการแล้วมอเตอร์จะทำการปรับให้มอเตอร์หมุนทวนเข็มนาฬิกาเพื่อนำเมล็ดกาแฟคั่วออกมาผ่านฝาที่ปิดไว้ลงมายังส่วนรองรับเมล็ดกาแฟด้านนอก เมื่อนำเมล็ดกาแฟที่คั่วเสร็จแล้วออกหมดสามารถคั่วครั้งต่อไปได้อีก

รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรม กรรมวิธีการผลิตแอสต้าแซนทีนโอเวอร์ไนท์มาส์ก (อนุสิทธิบัตร คำขอเลขที่ 2103000788) ผลงานของ ผศ.ดร.อังคณา ใสเกื้อ อาจารย์ปัทมาพร มีสิทธิ์ และอาจารย์อภิษฎา รอบคอบ แอสต้าแซนทีนโอเวอร์ไนท์มาส์ก เป็นครีมที่มีสารสกัดแอสตาแซนทีนเข้มข้นจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่สกัดในน้ำมันสกัดเย็นสองชนิดคือน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันดาวอินคา เป็นกรรมวิธีที่ปลอดภัย ปราศจากสารเคมี 100% แก้ปัญหาผิวจากฝ้ากระ และริ้วรอยแห่งวัยได้อย่างตรงจุด จากคุณสมบัติที่สารสกัดแอสต้าแซนทีนสามารถละลายได้ดีในน้ำมัน จึงส่งผลให้ครีมสามารถแทรกซึมได้ถึงชั้นที่ลึกของผิว จึงช่วยตอบโจทย์และแก้ปัญหาผิวได้อย่างครบวงจร จึงเป็นตัวช่วยให้ผิวกลับมานุ่มฟูและกระจ่างใสได้อีกครั้งหนึ่

รางวัลเหรียญทอง นวัตกรรมถังบีบอัดขยะและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน (อนุสิทธิบัตร คำขอเลขที่ 2103000139) ผลงานของ ผศ.บัญญัติ นิยมวาส ผศ.ชลัท ทิพากรเกียรติ และผศ.ณัฐนีภรณ์ น้อยเสงี่ยม ความโดดเด่นของถังขยะจะติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อจ่ายไฟให้แบตเตอรี่ และจ่ายไฟเข้าสู่ชุดตรวจจับ ปริมาณขยะ กลิ่นขยะ ตำแหน่งถังขยะ และการควบคุมการทำงาน โดยจะเริ่มทำงานเมื่อมีการทิ้งขยะเข้าสู่ถังขยะ จนเมื่อมีปริมาณถึงตำแหน่งที่กำหนดไว้ผ่านการควบคุมของชุดควบคุม ระบบจะประมวลผลการทำงานเพื่อบีบอัดขยะด้วยชุดบีบอัด แสดงข้อความใกล้เต็ม 80 % ของความจุถัง หรือขยะเริ่มล้นขึ้นมาที่ฝา ส่วนกลิ่นจะแสดงข้อความว่า ถังขยะมีกลิ่นรุนแรง พร้อมทั้งไฟแสดงสถานะ และการแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งระบุตำแหน่งของถังขยะได้ว่าอยู่ ณ พื้นที่ใด เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บขยะแก่เจ้าหน้าที่

รางวัลเหรียญเงิน นวัตกรรมเครื่องวัดความเค็มและปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ (สิทธิบัตรออกแบบ คำขอเลขที่ 2102000544) ผลงงานของ ดร.ณัฐพล แก้วทอง ผศ.นเรศ ขวัญทอง ผศ.ชยณัฐ บัวทองเกื้อ และอาจารย์ต่อลาภ การปลื้มจิตร เครื่องมือตรวจวัดค่าความเค็ม และปริมาณน้ำฝนแบบอัตโนมัติ โดยรายงานค่าทุก ๆ 6 ชั่วโมงแบบอัตโนมัติไปยังกลุ่มเกษตรกรต้นแบบกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่คูขุด กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ท่าหิน และกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่บางเขียด เพื่อใช้ในการตัดสินใจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าว ซึ่งในอนาคตกลุ่มเกษตรกรจะสามารถวิเคราะห์ช่วงเวลาในการรุกตัวของน้ำเค็มที่เข้ามาในทะเลสาบสงขลาโดยใช้ข้อมูลจากการตรวจวัดเป็นองค์ประกอบพื้นฐานเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณน้ำต้นทุนที่แท้จริงที่สามารถใช้เพื่อการเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกรจาก 500 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 700 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อไป

รางวัลเหรียญเงิน นวัตกรรมลวดลายผลิตภัณฑ์ล้อแม๊กมอเตอร์ไซด์เครื่องถมไทย (สิทธิบัตรออกแบบ คำขอเลขที่ 1902004696) ผลงงานของ ดร.พิมพิศา พรหมมา ดร.ณัฏฐ์วรดี คณิตินสุทธิทอง และอาจารย์พีชยะ บัวแก้ว นวัตกรรมการออกแบบและผลิตเครื่องถมสายพันธุ์ใหม่ Biker Collection เป็นผลงานที่นักวิจัยได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับทายาทช่างถม โดยออกแบบให้โดนใจกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม Biker ที่ชื่นชอบความรวดเร็วและท้าทาย รวมทั้งได้นำนวัตกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำให้ผลิตได้รวดเร็วขึ้น และใช้นำยาถมที่ปราศจากสารตะกั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดมลพิษในการผลิตอีกด้วย

รางวัลเหรียญเงิน นวัตกรรมสูตรและกระบวนการผลิตลูกเดือยกล้องพองกรอบ (อนุสิทธิบัตร คำขอเลขที่ 2103002163) ผลงงานของ อาจารย์เดชศักดิ์ วิจิตต์พันธ์ และอาจารย์รุ่งทิพย์ รัตนพล เป็นการผลิตลูกเดือยที่ถูกต้องตามขั้นตอนและตามหลักสุขลักษณะการผลิตที่ดี ลูกเดือยกล้องพองกรอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มี รสชาติดี รับประทานได้ง่าย สามารถเก็บรักษาได้นาน และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่า ให้กับผลผลิตลูกเดือย เพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์จากลูกเดือย และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การขับเคลื่อนของ สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อดำเนินงานบริการทางวิชาการ ทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม การสร้างผู้ประกอบการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโดยใช้องค์ความรู้จากสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และภาคอุตสาหกรรม สร้างรายได้จากการใช้ประโยชน์งานบริการทางวิชาการ ทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และวิสาหกิจวัฒนธรรมต่อไป