​โควิด-19 สงขลา ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังสูง เตรียมขยายมาตรการควบคุมจนถึง 30 ก.ย.64


13 ก.ย. 2564

สถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของจังหวัดสงขลา จากวันที่ 1-13 กันยายน 2564 เรียงตามลำดับ 290+254+279+224+227+263+200+369+374+285+473+396+301 = 3,935 ราย ซึ่งยังคงเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ โดยวันนี้ 13 ก.ย.64 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 301 ราย มีตัวเลขสูงกระจายไปในหลายอำเภอ

รายงานจากจังหวัดสงขลา ระบุว่าจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ในชุมชน ในแต่ละอำเภอ ในโรงงาน และในบริษัท ร้านค้าต่างๆ เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 ผลการตรวจหาเชื้อประจำวันที่ 13 กันยายน 2564 พบผู้ติดเชื้อรวม 301 ราย มีรายละเอียดผู้ติดเชื้อ ดังนี้..

1.กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในอำเภอต่าง ๆ จำนวน 193 ราย

- อ.จะนะ 20 ราย

- อ.เทพา 23 ราย

- อ.นาทวี 8 ราย

- อ.บางกล่ำ 1 ราย

- อ.เมือง 31 ราย

- อ.ระโนด 14 ราย

- อ.รัตภูมิ 9 ราย

- อ.สทิงพระ 1 ราย

- อ.สะเดา 11 ราย

- อ.สะบ้าย้อย 36 ราย

- อ.สิงหนคร 7 ราย

- อ.หาดใหญ่ 30 ราย

- จ.พัทลุง 1 ราย

- จ.นครศรีฯ 1 ราย

2.ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม รวมจำนวน 31 ราย

- โรงงานศรีตรังโกลฟส์ จำนวน 11 ราย (รายใหม่ 1 ราย สัมผัส 10 ราย)

- โรงงานอุตสาหกรรม 7 แห่ง (CPF ระโนด,โชติวัฒน์อุตฯ,ซีเวลท์,เซฟสกิน,ถาวรอุตฯ,ไทยยูเนี่ยน สิงหนคร,สยามอินเตอร์) รวมจำนวน 20 ราย

3.ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในบริษัทต่าง ๆ จำนวน 17 ราย

4.ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชน / ตลาด รวมจำนวน 11 ราย

- ชุมชนหัวเขา 9 ราย / - ตลาดสดพลาซ่า 2 ราย

5.ผู้ป่วยจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอื่น ๆ จำนวน 49 ราย (AIS หาดใหญ่,ค่ายมหาจักรีสิรินธร,ผู้ป่วยจาก ตจว./เดินทางมาจาก ตจว.,บุคลากรสาธารณสุข,ร้านหรอย,โรงไฟฟ้าจะนะ,โลตัสหาดใหญ่ และกลุ่มอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค)

และในวันนี้จังหวัดสงขลา แถลงข่าวศูนย์โควิด-19 อัพเดทสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเตรียมขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไปจนถึง 30 กันยายน 2564

นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สถานการณ์โดยภาพรวมในจังหวัดสงขลา ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ในกลุ่มต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการแพร่ระบาดสายพันธุ์ Delta ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายและติดเชื้อได้ง่าย จังหวัดสงขลา ดำเนินการดูแลประชาชนในกลุ่มยากไร้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ทางอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจประชนที่ยากไร้ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อวันนี้ ประเด็นแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามคำแนะนำของ ศบค. จากมติของ ศบค.ล่าสุด อาทิ

การขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งบางมาตรการได้กำหนดใช้ถึงวันที่ 14 กันยายน 2564 จึงได้มีการกำหนดขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ เพื่อควบคุมการแพ่ระบาดของโรค เข้มงวดพื้นที่ชายแดน เข้มงวดในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย การบริหารจัดการวัคซีนให้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงให้เข้มงวด และยกระดับในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในด้านอื่น ๆ ด้วย โดยจังหวัดสงขลาได้ให้ใช้มาตรการเดิมให้สอดคล้องกับมติ ศบค. ทุกประการ ซึ่งขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการไปจนถึง 30 กันยายน 2564

สำหรับการเปิดภาคเรียนได้มีการหารือร่วมกับ คณะกรรมการโรคติดต่อ ซึ่งมีมติว่า กรณีโรงเรียนใดมีความประสงค์จะเปิดเรียน และมีความพร้อมตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดครบทุกข้อ จะมีการลงพื้นที่ไปตรวจและประเมิน โดยความเห็นชอบจากทุกส่วน เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน หาเห็นสมควรว่าสมควรเปิกภาคเรียน จะมีการยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตเปิดการเรียนการสอน และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา วันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 301 ราย พบในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในอำเภอต่าง ๆ จำนวน 193 ราย ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม รวมจำนวน 31 ราย ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในบริษัทต่าง ๆ จำนวน 17 ราย ผู้ป่วยจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในชุมชน / ตลาด รวมจำนวน 11 ราย และผู้ป่วยจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอื่น ๆ จำนวน 49 ราย พบมากสุดในอำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมือง และอำเภอสะเดาตามลำดับ ยอดสะสมในระลอกใหม่ จำนวน 24,193 ราย มากสุดในสายพันธุ์ Alpha รองลงมาคือ สายพันธุ์ Delta และ สายพันธุ์ Beta เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการ ร้อยละ 73.31 กลุ่มสีเหลืองอาการน้อย ร้อยละ 25.18 และกลุ่มสีเขียว ร้อยละ 1.51 มีผู้ป่วยเสียชีวิตวันนี้ 2 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 4,234 ราย รักษาหายกลับบ้านวันนี้ 159 ราย และรับคนสงขลากลับบ้านรวม 138 ราย

สำหรับการบริหารจัดการวัคซีน ขณะนี้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 488,491 คน 813,421 โด๊ส ในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 53.35 กลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง คิดเป็นร้อยละ 50.49 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ อสม. คิดเป็นร้อยละ 94.61 และกลุ่มประชาชนทั่วไปคิดเป็นร้อยละ 35.17 ในเดือนหน้าคาดว่าจะได้รับการจัดสรรค์วัคซีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเร่งฉีดในกลุ่มทั่วไป และเริ่มฉีดในกลุ่มนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตามหากฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้ออยู่ เพียงแต่จะลดความรุนแรง ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองโดยการใช้มาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการที่คณะกรรมมการโรคติดต่อออกมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดขึ้นด้วย

ด้าน พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวถึงโครงการ Hatyai Sandbox Plus ซึ่งย้ำว่าไม่เหมือนกับ ภูเก็ต Sandbox โดยจะมีการเน้นในเรื่องของความปลอดภัย ของสถานที่ จุดเสี่ยงต่าง ๆ ผู้ประกอบการ พนักงาน และประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก จังหวัดสงขลา ร่วมกับหลายๆภาคส่วน ทั้งสาธารณสุขจังหวัดสงขลา มูลนิธิชุมชนสงขลา และเทศบาลนครหาดใหญ่ ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม ร่วมสร้างต้นแบบเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน ด้วยการรักษาสมดุลด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม ประกาศใช้พื้นที่เมืองหาดใหญ่เป็นจุดทดสอบปฏิบัติการ(Sandbox) ชูแนวคิดเปิดเมืองอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียง มาใช้บริการ Hatyai Sandbox Plus

โดยกิจกรรมแรกคือ Hatyai Smart & Clean สถานที่ปลอดภัย สำหรับคนที่ปลอดภัย จะมีการนำ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็นร้านต้นแบบจำนวน 6 ร้าน เพื่อสาธิตการใช้มาตรการ ภายใต้เงื่อนไขการบริการแบบใหม่ คือ พนักงานจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน หรือการตรวจ ATK ตามเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมการดำเนินมาตรการของสถานประกอบการตามนโยบาย ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา มีการใช้แอพพลิเคชั่น OneChat เพื่อแสดงสถานะ การฉีดวัคซีน หรือ ATK ของพนักงาน และสามารถแสดงเป็นสถานที่ปลอดภัยในแผนที่ของ OneChat ลูกค้าจะต้องแสดงสถานะการฉีดวัคซีนที่ หรือมีผลตรวจโควิด ก่อนเข้ารับบริการ

นอกจากนี้ลูกค้าสามารถประเมินความพึงพอใจและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาตรการการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น OneChat ซึ่งได้เริ่มให้บริการแล้ว เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยการตอบรับค่อนข้างดี ขณะเดียวกันมีร้านค้าหลายร้านมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้มีอีก 2 กิจกรรม คือ หาดใหญ่แคร์ เป็นกระบวนการเยียวยากลุ่มเปราะบาง และอีกหนึ่งกิจกรรม เป็นการรวบรวมเงินเป็นกองทุนไว้เพื่อความยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้หวังจะเป็นต้นแบบในการเดินหน้าเศรษฐกิจควบคู่ไปกับใช้มาตรการ รักษาสมดุลด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม หวังเป็นต้นแบบกลไกลการเปิดเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน