จังหวัดสงขลา เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกหนักในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ และเตรียมความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัย


20 ต.ค. 2564

วันนี้ (20 ต.ค.64) ที่ห้องประชุมศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานการประชุมคณะทำงานด้านวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ประจำปี 2564 โดยมีนางสาวพะเยาว์ เมืองงาม ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกสงขลา นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการชลประทานสงขลา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

เนื่องด้วยในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2564 ของทุกปี จะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้เป็นตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฤดูหนาวของประเทศไทย สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะได้อิทธิพลมาจากมรสุมดังกล่าว ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงดังกล่าวมีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อน ( หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง , พายุดีเปรสชั่น , พายุโซนร้อน , พายุใต้ฝุ่น ) ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างและเคลื่อนตัวเข้ามาอ่าวไทย -ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกรวมถึงจังหวัดสงขลามีฝนตกหนักถึงหนักมาก เป็นบริเวณกว้างและคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง อาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลากได้

โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ และพิจารณาแนวทางการทำงานของคณะทำงานวิเคราะห์ฯ และชุดปฏิบัติการวิเคราะห์ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย แนวทางการทำงานของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก แผนงานการรับมือสถานการณ์ของสำนักงานชลประทาน ทั้งแผนงานก่อนน้ำมา ระหว่างน้ำมา และ หลังน้ำมา แนวทางการรับมือสถานการณ์ของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ได้มีการจัดตั้งทีมเฝ้าระวัง วางแผนการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย เตรียมเครื่องจักรกล ชุดเผชิญเหตุ ให้มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากร ในการรับมือกับสถานการณ์ และแผนการรับมือของหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ในส่วนของงานประชาสัมพันธ์ในการแจ้งเตือนภัยประชาชน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลาได้วางแผนการประชาสัมพันธ์ทั้ง ก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังจากเกิดเหตุ ในการแจ้งภัย โดยจะใช้สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อโซเชียลมิเดียและร่วมกับภาคีเครือข่ายของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเครื่อข่ายที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะเน้นผลิตสื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งจะมีการประสานงานกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกสงขลา และหน่วยงานอื่นๆ ในการรับข้อมูลอย่างรวดเร็วและใกล้ชิด พร้อมทั้งเน้นย้ำในประเด็นของเฟคนิวน์ หรือข่าวปลอม ที่ทำให้เกิดความตระหนกตกใจของประชาชน จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามข่าวสารการเตือนภัยต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ หรือสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกและได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ การประชุมวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย และดินถล่มจังหวัดสงขลา ประจำปี 2564ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น