นมเย็นออนไลน์ (2) ​ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม


18 ม.ค. 2565

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม

“ความเชื่อ” เรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นประเด็น แต่ก็อาจเป็นประเด็นได้

เชื่อว่าหลายท่านที่ได้อ่านบทความฉบับนี้ คงเคยได้ยินตัวอย่างความเชื่อมาบ้างไม่มากก็น้อย ความเชื่ออยู่คู่ชีวิตเรา ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต ไม่เว้นแม้กระทั่งความเจ็บป่วย และโรคมะเร็งเต้านม

พี่ดาว-ประกายดาว สุนทร และพี่ก้อย-ภาวินี ชีวะก้องเกียรติ สองสาวผู้เคยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม แม้จะไม่เรียกว่าหายขาด แต่ปัจจุบันอยู่ในระยะปลอดโรค เล่าตัวอย่างความเชื่อและข่าวลือในระหว่างที่เธอทั้งสองป่วยเป็นมะเร็งให้เราฟังว่า ความเชื่อแรก ๆ ที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ คือ เรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการห้ามกินเนื้อสัตว์ น้ำเต้าหู้ น้ำมะพร้าว ทั้งพี่ดาวและพี่ก้อยยืนยันว่า เธอก็ยังคงกินทั้งหมดที่กล่าวมา และก็ไม่เป็นอะไร พี่ก้อยเองไม่กินเนื้อวัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และเป็นคนรักษาหุ่น จึงทานในปริมาณที่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งคุณหมอเองก็แนะนำให้ทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้พลังงาน โปรตีน และสารอาหารที่เพียงพอไปฟื้นฟูร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอจากการรับยาเคมีบำบัด แม้เนื้อสัตว์ ไข่ เต้าหู้ จะถูกเหมารวมในความเชื่อเรื่องอาหารที่ไม่ควรทานเมื่อเป็นมะเร็ง แต่อาหารเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีทั้งสิ้น


“ระหว่างการรักษา ในเรื่องอาหารการกิน มันกินไม่ได้เองอัตโนมัติ เพราะว่ามันเบื่ออาหาร แต่เราก็ต้องมีวิธีการอย่างอื่นที่จะหาอะไรมาทดแทนได้”

ในช่วงที่รับยาเคมีบำบัด เม็ดเลือดขาวลดต่ำลงมาก พี่ดาวต้องทานไข่ขาววันละกว่า 10 ฟอง เพื่อให้ได้โปรตีนมาเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย ในส่วนประเด็นความกังวลเรื่องเนื้อสัตว์ เนื้อแดงนั้น มีงานวิจัยจากยุโรป[1] ระบุว่า ประเด็นอยู่ที่ความร้อนที่ใช้ปรุงเนื้อสัตว์นั้นสูงเกินไป เช่น ปิ้งย่างจนเกรียม ซึ่งทำให้เกิดสารที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งได้ ส่วนน้ำเต้าหู้ และน้ำมะพร้าวมีสารที่ชื่อว่า ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพศหญิง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่สารดังกล่าวมีฤทธิ์ทางฮอร์โมนอ่อนมากเมื่อเทียบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย[2] ทั้งยังไม่มีผลวิจัยที่สรุปแน่ชัด[3] ว่าน้ำเต้าหู หรือน้ำมะพร้าวจะเป็นสาเหตุของมะเร็งเต้านม

หรือความเชื่อเกี่ยวกับการไปงานศพ ทั้งพี่ดาวพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เธอยังไม่เป็นอะไร แม้จะเคยไปร่วมงานศพในระหว่างป่วย ส่วนพี่ก้อยเอง ไปสวดมนต์ที่วัดเป็นประจำ แม้จะพบว่าเป็นมะเร็งระยะที่ 2 ถึง 3 ด้วยซ้ำ เธอก็ยังมีชีวิตอยู่จนปัจจุบัน

“มะเร็งไม่ได้มีเซ็นเซอร์กับงานศพ ที่ไปแล้ว เชื้อจะกลับมา”

นอกจากนี้ หากท่านใดอาศัยอยู่ทางภาคใต้ ก็อาจได้ข่าวลือที่ว่า “อย่ามารักษาที่ ม.อ.[4] นะ ให้ยาเคมีบำบัด หรือว่าฉายแสง ตายทุกราย” และตามมาด้วยคำแนะนำให้กินยาต้ม ยาหม้อแทน พี่ดาวกล่าวว่า เธอก็เห็นคนไข้หลายคนรักษาหาย บางรายเท่านั้นที่เป็นระยะท้าย ๆ แล้วก็เสียชีวิตได้ ส่วนคำแนะนำที่ให้กินยาหม้อนั้น เธอมีคำตอบให้ผู้แนะนำว่า เธอกินไม่ได้เพราะอยู่ในช่วงการรักษาที่หมอทำการวิจัยอยู่ แม้แต่พี่ก้อยเอง ได้เล่าประสบการณ์ได้รับการทายทักจากพระอาจารย์ด้วยซ้ำว่าอย่ารักษา ตายแน่ เมื่อคนที่ทักเป็นถึงพระ ก็สร้างความสับสนให้เธอไม่น้อย แถมยังแนะนำต่อว่า ข้างหน้ามียาหม้อไปรับที่นั่นเลย พี่ก้อยเองก็รับฟังไว้ แต่เธอก็ขับรถเลยผ่านไป และแน่วแน่ในแผนการรักษาที่ได้วางแผนร่วมกับหมอไว้แล้ว “หากวันนั้น เชื่อพระอาจารย์ท่านนั้น ก็ไม่รู้ว่า จะยังได้มานั่งอยู่ตรงนี้มั้ย”

นี่คือประสบการณ์จริงของพี่ดาวและพี่ก้อย ที่การมีชีวิตอยู่ของพวกเธอเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า ความเชื่อเหล่านั้นไม่เป็นความจริง การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างมีสติ ด้วยเหตุและผล บนฐานของความรู้ความเข้าใจต่างหาก ที่จะนำพาให้ชีวิตฟันฝ่าโรคร้ายมาได้ การเชื่อสิ่งที่ได้ยินมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา อาจเป็นหนทางที่แน่นอนกว่า ในการนำพาตัวเองสู่หายนะอย่างแท้จริง

ประกายดาว สุนทร : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

ภาวินี ชีวะก้องเกียรติ : จิตอาสา ชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

บทความชุดความรู้จากประสบการณ์ของสมาชิกชมรมนมเย็น (เพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งเต้านม)

โครงการพัฒนาสื่อสุขภาพด้านการดูแลตนเองจากประสบการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มอาสาสมัครศูนย์ถันยเวชช์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

สนับสนุน โดยสถานวิจัยการควบคุมโรคมะเร็งในประเทศไทย



[1] กลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี. ความเชื่อเรื่องอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://110.164.68.234/nutrition_7/index.php/en/2017-03-19-15-34-22 [4 พฤศจิกายน 2564]

[2] พญ. สุรีรัตน์จารุหทัย. น้ำเต้าหู้มีผลกับมะเร็งเต้านมจริงหรือ? [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.thaibreastcancer.com/537/ [5 พฤศจิกายน 2564]

[3] โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์. 7 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/7fact-breast-cancer [4 พฤศจิกายน 2564]

[4] มอ. ชื่อย่อของ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา