สัมมนาวิชาการและนำเสนอบทความทางวิชาการระดับชาติ “สถานภาพ ความรู้ เอกสารตัวเขียนฯ
จังหวัดสงขลา จัดสัมมนาวิชาการและนำเสนอบทความทางวิชาการระดับชาติ “สถานภาพ ความรู้ เอกสารตัวเขียนกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในสังคม” เพื่อฟื้นคืนคุณค่าและมูลค่าของเอกสารตัวเขียนไทย ในระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2565
(10 มี.ค. 65) รองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบริหารและกิจการนิสิต สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการและนำเสนอบทความทางวิชาการระดับชาติ “สถานภาพ ความรู้ เอกสารตัวเขียนกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในสังคม” ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2565 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร วิทยากร ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมการสัมมนาฯ ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา และถ่ายทอดสดผ่านรูปแบบออนไลน์ Facebook Live เพจสถาบันทักษิณคดีศึกษา
ด้วยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ กระทรวง อว. และสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดสัมมนาวิชาการและนำเสนอบทความทางวิชาการระดับชาติ “สถานภาพ ความรู้ เอกสารตัวเขียนกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในสังคม” ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2565 เพื่อฟื้นคืนคุณค่าและมูลค่าของเอกสารตัวเขียนไทย ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง กระตุ้นมรดกภูมิปัญญาศิลปะและวัฒนธรรมด้านเอกสารตัวเขียนไทย และการศึกษาเพื่อสร้างฐานข้อมูลในด้านอักษรไทย ภาษา วรรณกรรมไทย และศิลปะและวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ร่วมกันจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รวบรวมเอกสารตัวเขียนโบราณไว้จำนวนไม่น้อย ไม่ว่าที่เป็นลักษณะของบุดหรือสมุดช่อยหรือสมุดไทย ใบลาน กระดาษสา กระดาษเพลาและกระดาษฝรั่ง เอกสารตัวเขียนไทยเก่า และหากได้มีการศึกษากันอย่างต่อเนื่อง และจริงจังอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดคุณค่าต่อประเทศไทยชาติเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงจะเกิดมูลค่า ทั้งด้านวัฒนธรรม และด้านต่าง ๆ ที่ได้ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นยุคแห่งการสื่อสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หรือเรียกว่ายุคดิจิทัล
ดังนั้น การจัดสัมมนาในครั้งนี้ เห็นว่า “อักษรตัวเขียนไทย” มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ควรอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศึกษา และวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อเป็นฐานข้อมูลทางภูมิปัญญาในการพัฒนาประเทศชาติสืบไป
ณิชารีย์ หนูบุญ/ข่าว/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา