​มรภ.สงขลา ทำโครงการยุวชนอาสาผลิตผักปลอดสารพิษครบวงจร ยกระดับคุณภาพ เสริมรายได้เกษตรกร


3 ธ.ค. 2565

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ผนึกกำลังคณะวิทยาการจัดการ ทำโครงการยุวชนอาสาผลิตผักปลอดสารพิษครบวงจรของเกษตรกร ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ยกระดับคุณภาพผลผลิต พร้อมขยายตลาดสินค้าสู่กลุ่มเป้าหมาย เสริมรายได้ให้คนในชุมชน

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ อ.ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร และ คณะวิทยาการจัดการ นำโดย อาจารย์ ดร.รรินา มุกดา และ อาจารย์สิริกันยา โชติช่วง พร้อมนักศึกษาช่วยงานภายใต้โครงการวิจัยฯ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย ตรวจแปลง ทดสอบความปลอดภัยในผักในพื้นที่ของเกษตรกร ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพของผลผลิตและขยายตลาดสินค้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ เดิมทีกลุ่มเกษตรกรใน ต.เกาะแต้ว มีการปลูกพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในตลาดใกล้บ้านอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยพืชผักที่ปลูกมีหลากหลายชนิด ได้แก่ ผักกาด ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว พริก เป็นต้น การปลูกผักเป็นกิจกรรมเกษตรที่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลาย ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีตลอดเวลา ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรประสบกับปัญหาขาดทุนจากการผลิตพืชผัก เนื่องจากมีการปิดตลาดนัดในท้องถิ่นซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผักสด ประกอบกับเกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการเก็บรักษาผลผลิตผักหลังการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้พืชผักเน่าเสียจำนวนมาก ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน

คณะเทคโนโลยีการเกษตรจึงร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา ลงพื้นที่วิจัยภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษครบวงจร เพื่อสร้างเสริมรายได้และอาชีพให้แก่เกษตรกร โดยเริ่มจากการให้ความรู้ในการจัดการดิน ปุ๋ย และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งได้แก่ การผลิตที่มีการใช้สารเคมีที่มีผลตกค้างสั้น และใช้อย่างถูกวิธี ควบคุมระยะเวลาการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี และระยะเวลาการเก็บเกี่ยวพืชผักที่เหมาะสม หรือไม่มีการใช้สารเคมีควบคุมและกำจัดศัตรูพืช เน้นการใช้วัสดุอินทรีย์และสารสกัดจากธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ให้องค์ความรู้ในการจัดการการเก็บรักษาผลผลิตผักหลังการเก็บเกี่ยว การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม รวมทั้งการค้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถจำหน่ายผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น กลุ่มเกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการฝึกปฏิบัติผ่านการเรียนรู้จากนักวิจัยและผู้มีประสบการณ์ เพื่อช่วยให้มีประสิทธิผลในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต โดยมีนักศึกษาเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาวิเคราะห์ประมวลผลปัญหาของชุมชน และให้ความช่วยเหลือ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ