ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2565


3 ม.ค. 2566

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนธันวาคม 2565

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนธันวาคม 2565 (44.30) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 (43.70) และเดือนตุลาคม (43.10) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กลับมามีบรรยากาศคึกคักอีกครั้งในรอบ 2 ปี ทั้งจากคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น และชาวต่างชาติที่มีแผนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงปลายปี

ซึ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในปีนี้เป็นช่วงเวลาที่คนไทยเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวพักค้างในพื้นที่ การเดินทางท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับบ้านเพื่อเยี่ยมญาติ และมีการท่องเที่ยวระหว่างเส้นทางทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 ชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น เพราะหลายจังหวัดเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของการมาเฉลิมฉลอง Countdown อาทิ ภูเก็ต หาดใหญ่ สมุย เป็นต้น และในปีนี้ทางหน่วยงานรัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายเดือนธันวาคมในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวมีความคึกคักมากขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายเริ่มฟื้นตัวจากการประกอบกิจการ อีกทั้ง สถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมนอกบ้าน และเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันมีการปรับลดลง ทำให้ค่าใช้จ่ายและต้นทุนของสินค้าลดลง ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อลดลงตามไปด้วย แต่ราคาสินค้าและบริการที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นนั้น ยังคงอยู่ในระดับราคาสูงเช่นเดิม โดยไม่มีการปรับราคาลง จึงเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังคงควบคุมราคาสินค้าและบริการ รวมถึงให้ผู้ประกอบการบางประเภทลดราคาสินค้าและบริการลง เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง

2. ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังฟื้นตัวไม่เต็มที่มากนัก ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัวซึ่งส่วนใหญ่มองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมยังคงสูงขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จึงเสนอแนะให้รัฐบาลควรมีมาตราการส่งเสริม สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยการให้สินเชื่อฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจ และกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนเช่น โครงการคนละครึ่งเป็นต้น

3. การเดินทางท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุที่จะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรมีมาตรการดูแลป้องกันที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.70 และ 34.60 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.20 และ 36.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 32.60

37.10 และ 36.20 ตามลำดับ

สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการได้รับจากภาครัฐเป็นของขวัญปีใหม่ คือ 1) โครงการคนละครึ่งเฟส 6 2) การลดค่าไฟฟ้า และสาธารณูปโภค และ 3) การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ ในส่วนของปัญหาที่ประชาชนต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐคือ 1) การช่วยเหลือและเยียวยาให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้2) การเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย และ 3) การช่วยเหลือภาระหนี้สินของประชาชน