​ม.อ.แถลงข่าวผลวิจัย ผู้ป่วยปอดบวมจากโควิด-19 มีความเสี่ยงฯ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก


2 ก.พ. 2566

(1 ก.พ.66) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดงานแถลงข่าวผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า ในพื้นที่มีการระบาดของวัณโรค ผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อโควิด-19 มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอด ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยผลวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร eClinicalMedicine ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ ในเครือ Lancet ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ผลวิจัยนี้เป็นผลงานของ ดร.นพ.พลกฤต ขำวิชา สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยจากข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการปอดอักเสบ มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคสูงถึง 7 เท่า ของคนปกติ

โดยศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงปี 2564 ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และ อัลฟ่า ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา จำนวนประมาณ 2 หมื่นกว่าคน โดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลในการทำวิจัยจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และทุนวิจัยจาก National Institutes of Health (NIH) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.นพ.พลกฤต ขำวิชา ได้กล่าวถึงที่มาของการทำวิจัยในครั้งนี้ว่า ได้ดำเนินโครงการวิจัยเก็บข้อมูลการติดตามการกินยารักษาวัณโรคประมาณต้นเดือนมกราคม 2565 จากประวัติการรักษาคร่าวๆ ของผู้ป่วยที่เป็นอาสาสมัครทุกเคส พบว่า ผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่มักมีประวัติเคยรับการรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยใน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วคนไทยประมาณ 1 ใน 3 มีการติดเชื้อวัณโรคแต่ไม่มีอาการใดๆ และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น เรียกว่าเป็นวัณโรคแฝง ประเทศไทยจึงยังเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของวัณโรคอยู่ แม้ในชีวิตประจำวันจะไม่ค่อยเห็นใครเป็นวัณโรคบ่อยนัก เพราะภูมิคุ้มกันของคนปกติทั่วไปสามารถควบคุมวัณโรคไม่ให้ก่อโรคได้ จึงเกิดความสงสัยว่าโควิด-19 อาจทำให้คนที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง จากความล้าของภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเคสที่มีปอดบวมร่วมด้วย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคมากกว่าคนทั่วไป จึงนำข้อมูลการลงทะเบียนทั้งโรคโควิด-19 และวัณโรค มาศึกษาย้อนหลังเพื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์การเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยปอดบวมจากโควิด-19 ที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว กับอุบัติการณ์การเป็นวัณโรคปอดในคนทั่วไปที่ยังไม่มีหลักฐานว่าเคยติดเชื้อโควิด-19 โดยติดตามข้อมูลผู้ป่วยทุกรายอย่างน้อย 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยปอดบวมจากโควิด-19 หลังได้รับการรักษาจนหายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคปอดได้มากกว่าคนทั่วไป 7 เท่า

ด้าน ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคที่ยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย แต่เป็นโรคที่รักษาหาย และไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เมื่อรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วตั้งแต่เริ่มต้น และมีการตรวจคัดกรอง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค โดยหลักๆ เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV และ ผู้ป่วยเบาหวาน จากผลการวิจัยนี้ พบว่า ผู้ป่วยปอดบวมจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรจะต้องดูแลตัวเองให้ดี และไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการต่อเนื่อง และระบบสาธารณสุขก็ต้องดูแลบุคคลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ