​แถลงข่าวความพร้อมจัดงาน “วันสงขลา” 9-11 มี.ค.66


3 มี.ค. 2566

(2 มีนาคม 2566) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา นายสืบสกุล ศรีสุข ร่วมแถลงข่าวการจัด “งานวันสงขลา ประจำปี 2566” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา


นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เมืองสงขลาในอดีตเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมืองสงขลาย้ายสถานที่ตั้งเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเริ่มจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายแห่งแต่บ้านเมืองถูกทำลายจากภัยสงคราจนหมดสิ้น จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ฝั่งแหลมสน แต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีพื้นที่ราบเพียงพอในการขยายเมืองจึงย้ายเมืองมาอยู่ฝั่งบ่อยาง ซึ่งเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 และในประชุมพงศาวดารได้ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า “ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาเช้าเก้าโมง 1 กับ 10 นาที ได้ฤกษ์ พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ ได้เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา เป็นเสาหลักเมืองที่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้” ซึ่งปฏิทิน สุริยคติตรงกับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2385 และชาวสงขลาได้จัดงานสมโภชหลักเมืองเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2566 จังหวัดสงขลา ครบ 181 ปี ของการย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนมาอยู่ฝั่งบ่อยาง จึงกำหนดให้จัดกิจกรรมวันสงขลา สืบเนื่องมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าสมัยรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานเทียนและไม้ชัยพฤกษ์เป็นสิริมงคลแก่เมืองสงขลา สะท้อนความสำคัญของเมืองสงขลาในฐานะหัวเมืองทางภาคใต้ และตามของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และได้ประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา และสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันว่าจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาหลายช่วงอายุคน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา จึงเห็นสมควรจัดให้มีวันสงขลา โดยกำหนดให้วันที่ 10 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสงขลา

การจัดงานวันสงขลาเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยจังหวัดสงขลาร่วมกันจัดโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา (งานวันสงขลา) ขึ้นมา การจัดงานวันสงขลามีวัตถุประสงค์ เพื่อระลึกถึงการสถาปนาเมืองสงขลาและบรรพชนคนสงขลา เพื่อสร้างอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของคนสงขลา และเมืองสงขลาส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน รวมทั้งให้ประชาชนได้ร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ และของจังหวัดสงขลา ส่งเสริมความรัก ความสามัคคีของประชาชนคนสงขลา และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนสงขลา

อีกทั้งการจัดงานในครั้งนี้ จังหวัดสงขลา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อรองรับบริบทของเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในสังคมโลกสมัยใหม่ สอดรับกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการท่องเที่ยว เช่น การขับเคลื่อนจังหวัดสงขลาสู่เมืองมรดกโลก การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร สงขลาเมืองไมซ์ซิตี้ และสงขลาสปอร์ตซิตี้ เมืองแห่งการกีฬา ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์เมืองสงขลาให้มีคุณค่าในสังคมพหุวัฒนธรรม

ด้าน นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปี 2566 การจัดงานวันสงขลา เป็นครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2566 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีกิจกรรม ดังต่อไปนี้ 1. หมู่บ้านวัฒนธรรม 16 อำเภอ (การแสดงวิถีชีวิตของแต่ละอำเภอ , ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม) ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละอำเภอ 2. สาธิตและจำหน่ายภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 80 ซุ้ม จาก 16 อำเภอ แบ่งเป็น 4 โซน คือ โซนอาหารหวาน โซนอาหารคาว โซนผ้าพื้นเมือง และโซนหัตถกรรมพื้นบ้านและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 3. การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง,มโนรา) และการแสดงวงดนตรี 4. นิทรรศการ “คนสงขลาคนต้นแบบ”มีการมอบโล่คนสงขลาคนต้นแบบ ในวันที่ 10,11 มีนาคม 2566 นิทรรศการ “คนดีศรีสงขลา” มีการมอบโล่ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 และนิทรรศการสงขลาสู่มรดกโลก

สำหรับวันที่ 9 มีนาคม 2566 มีการมอบ เกียรติบัตรองค์กรและอำเภอคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 5. การเสวนาทางวิชาการ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา วันที่ 9 มีนาคม 2566 หัวข้อ “สงขลาสู่มรดกโลก”, วันที่ 10 มีนาคม 2566 หัวข้อ “สงขลาเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร” , วันที่ 11 มีนาคม 2566 หัวข้อ “สงขลาตำนานอาหารร้อยปีสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร” 6. วันที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 17.30 น. พิธีเวียนเทียนพระธาตุเจดีย์หลวง บนเขาตังกวน ณ ศาลาวิหารแดง เพื่อสักการะพระธาตุเจดีย์หลวงบนยอดเขาตัวกวน 7. วันที่ 10 มีนาคม 2566 พิธีทำบุญตักบาตรบรรพชนคนสงขลา 16 อำเภอ อำเภอเมืองสงขลา กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น ณ ถนนนางงามหน้าศาลหลักเมืองสงขลา กิจกรรมสมโภช เสาหลักเมือง พิธีเจริญพระพุทธมนต์ทำบุญเมืองสงขลา บริเวณถนนนางงาม และเวลา 19.00 น. พิธีเปิดงาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

โดยในงานวันสงขลาที่จัดขึ้นในปีนี้นับเป็นปีที่ 7 เพื่อสร้างการรับรู้ถึง ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ การใช้ชีวิตหลากหลายสไตล์ในสังคมพหุวัฒนธรรมและผลักดันให้สงขลาเป็นเมืองสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ สร้างความรัก ความสามัคคี นำความสุข ความภูมิใจ มาสู่ “สงขลาเมืองแห่งสีสัน”