เกษตรกรเฮ มทร.ศรีวิชัย สร้างนวัตกรรมจัดการน้ำเพื่อคาบสมุทรสทิงพระเครื่อง วัดความเค็มแบบเรียลไทม์


28 มี.ค. 2566

มทร.ศรีวิชัย ดำเนินงานโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและระบบการจัดสรรน้ำด้วยสมดุลน้ำรายตำบลในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ณ ศาลากลางน้ำ อุทยานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา อ.สทิงพระ จ.สงขลา ดร.ณัฐพล แก้วทอง หัวหน้าโครงการวิจัย และผู้ร่วมวิจัย จัดกิจกรรมติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและระบบการจัดสรรน้ำด้วยสมดุลน้ำรายตำบลในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ “นวัตกรรมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน : พลวัตการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในคาบสมุทรสทิงพระ” และการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “พลวัตการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิภาพโลกในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ” รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจดูเครื่องมือวัดอัตราการไหลในคลองส่งน้ำชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ และตำแหน่งสถานีตรวจวัดค่าความเค็มในทะเลสาบสงขลา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) รองอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย องค์กรภาคีเครือข่าย และเครือข่ายเกษตรกร เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อติดตามการดำเนินโครงการและร่วมวางแผนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการน้ำต้นทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ณัฐพล แก้วทอง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงโครงการวิจัยดังกล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ได้พัฒนาเป็นเครื่องวัดความเค็มแบบเรียลไทม์จะส่งต่อข้อมูลของค่าความเค็มของน้ำในทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งทำให้รับรู้ถึงระดับของค่าความเค็มในทะเลสาบที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาว่าเป็นอย่างไร นอกจากนั้นโครงการวิจัยชิ้นนี้ได้พัฒนาการติดตั้งนวัตกรรมให้กระจายเต็มพื้นที่ทะเลสาบสงขลา โดยได้ติดตั้งไปแล้วกว่า10 ตัว ทำให้ได้ทราบค่าความเค็ม และการขยับตัวการขับเคลื่อนของพื้นที่ว่าไปในทิศทางใด อย่างเช่นพื้นที่ด้านเหนือที่ยังไม่มีความเค็ม เกษตรกรจะทราบได้ว่าพื้นที่ทางตอนใต้กำลังเกิดความเค็ม เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะได้วางแผนทำการเกษตร ถ้าหากจะต้องทำการเกษตรก็ควรจะต้องมีการสำรองน้ำอย่างไรให้ลดความเสี่ยงและความเสียหายทางการเกษตรจากการขาดแคลนน้ำ

ด้าน คุณถาวร แซ่จิ้ว กรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคเกษตรกรรม กล่าวว่า อนาคตของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะต้องเดินหน้าไปได้ไกลแน่นอน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากมทร.ศรีวิชัย โดยอาจารย์ ดร.ณัฐพล แก้วทอง และผู้ร่วมวิจัย เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการดูแลทรัพยากรน้ำ ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำซึ่งทะเลสาบสงขลาถือเป็นสายน้ำสำคัญระดับประเทศที่หล่อเลี้ยงการเกษตรภาคใต้ หากภาคประชาชนไม่ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวิจัย ศึกษา ปัญหาของน้ำในทะเลสาบคงจะแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ และรู้สึกปลื้มใจที่หน่วยงานสถาบันด้านการศึกษา มทร.ศรีวิชัย ให้ความสำคัญภาคเกษตรกรรมถึงการแก้ปัญหาน้ำเค็มให้เกิดประโยชน์แก่ภาคเกษตรได้อย่างดีเยี่ยม

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า โครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและระบบการจัดสรรน้ำด้วยสมดุลน้ำรายตำบลในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม นับเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการให้ความสำคัญการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการน้ำต้นทุนและแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ลดความเสี่ยงและความเสียหายทางการเกษตรจากการขาดแคนน้ำในพื้นที่ โดยเน้นการใช้กลไกเครือข่ายภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระอย่างยั่งยืน