มหาวิทยาลัยทักษิณร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ


21 ก.ค. 2566

มหาวิทยาลัยทักษิณร่วมมือเครือข่าย 13 หน่วยงาน ทั้งในและต่างประเทศ จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 34 และระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปี 2566

วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 34 และระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ : การวิจัยและนวัตกรรมสังคมมุ่งสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Research and Social Innovation for Sustainable Development Goal : SDGs) ณ โรงแรม คริสตัลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำหรับการประชุมวิชาการที่มหาวิทยาลัยทักษิณจัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นจุดสร้างเครือข่ายความ ร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรและสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางสู่สาธารณชนเพื่อ การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ ตลอดจนการนำไปใช้แก้ปัญหาและขับเคลื่อนสังคมทั้งใน ระดับชาติและนานาชาติได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีทางวิชาการให้กับนักวิจัยทั้งภายในและ ภายนอกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัยร่วมกัน รวมทั้งเป็นช่องทางให้กับนิสิตระดับ บัณฑิตศึกษา มีเวทีในการนำเสนอผลงานวิจัยตามเงื่อนไขการสำเร็จหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาอีกทางหนึ่ง อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมจากผลงานวิจัยไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการพัฒนาสังคมและประเทศ

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พรเทพ ศรีธนาธร อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ประจำสหภาพยุโรป Prof. Emeritus Dr. Lindsay Falvey จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย Prof. Dr. Ir. Peter Goethals จากภาควิชาสัตวศาสตร์และนิเวศวิทยาทางน้ำ คณะ วิศวกรรมชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย Ghent และ Prof. Dr. Hidenari Yasui จาก มหาวิทยาลัยคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้เกียรติเป็นวิทยากรในงานการประชุมวิชาการ และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศทั้ง 13 หน่วยงาน ที่ให้เกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการฯ ประกอบด้วย ภายในประเทศ จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมวิศกรรมชีวภาพอาเซียน (ABES)  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP)  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และต่างประเทศ จำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ Universities de Moncton ประเทศ แคนาดา  Udayana University ประเทศ อินโดนีเซีย  Janabadra University ประเทศ อินโดนีเซีย  Universitas Nahdlatul Ulama Yogyakarta ประเทศ อินโดนีเซีย Universiti Teknologi MARA (UiTM) ประเทศ มาเลเซีย Tunku Abdul Rahman University of Management and Technology ประเทศ มาเลเซีย Myanmar Creative University ประเทศพม่า รวมทั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยนานาชาติ บัณฑิตวิทยาลัย และงานวิเทศสัมพันธ์ ที่มีส่วนร่วมในการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2566 ซึ่ง มีผลงานวิจัยเข้าร่วมนำเสนอ ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ทั้งสิ้น 190 บทความ โดยมีผลงานเข้าร่วมนำเสนอ ในภาคบรรยายจำนวน 113 ผลงาน และภาคโปสเตอร์จำนวน 77 ผลงาน มีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัย จำนวน 8 บูธ