จังหวัดสงขลา ขอเชิญเที่ยวงานโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา “งานวันสงขลา” ประจำปี 2567


5 มี.ค. 2567

(4 มีนาคม 2567) เวลา 14.30 น. ณ ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาน ายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา และอาจารย์สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ร่วมแถลงข่าวโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา งานวันสงขลา ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 - 11 มีนาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เพื่อร่วมระลึกถึงวันคล้ายวันสถาปนาเมืองสงขลา และบรรพชนคนสงขลา เผยแพร่อัตลักษณ์คนสงขลา ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนสร้างความรักความสามัคคี สร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้และของจังหวัดสงขลา พร้อมทั้งกระจายรายได้แก่ประชาชนคนสงขลา โดยมีสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ร่วมภายในงาน

นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “เมืองสงขลาเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของภาคใต้ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าเมืองสงขลาย้ายสถานที่ตั้งเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเริ่มจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุหลายแห่ง แต่บ้านเมืองถูกทำลายจากภัยสงคราม จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ฝั่งแหลมสน แต่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและลักษณะภูมิทัศน์เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีพื้นที่ราบเพียงพอในการขยายเมืองจึงย้ายมาตั้งเมืองใหม่ที่ฝั่งบ่อยาง ซึ่งเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 และในที่ประชุมพงศาวดารมีข้อความระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนสี่ ขึ้น 10 ค่ำ เวลาเช้า เก้าโมงหนึ่งกับ 10 นาที ได้ฤกษ์พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) และพระครูอัษฏาจารย์พราหมณ์ ได้เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองที่ปรากฏในปัจจุบันและเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวสงขลา ตามปฏิทินสุริยคติตรงกับวันที่ 10 มีนาคม ปี 2385 ชาวสงขลาจึงได้กำหนดให้วันดังกล่าวในทุก ๆ ปีเป็นวันสงขลา ในปี 2567 นี้ จังหวัดสงขลาครบรอบปีที่ 182 ของการย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนมาฝั่งบ่อยาง จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้นตามหลักฐานที่สืบเนื่องมา และหลักฐานส่วนหนึ่งพบว่าตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 3 พระองค์ท่านได้พระราชทานเทียนและ ไม้ชัยพฤกษ์ เป็นสิริมงคลแก่จังหวัดสงขลา ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองสงขลา ในฐานะที่เป็นหัวเมืองของภาคใต้ โดยท่านนายวิษณุ เครืองาม ได้กรุณามาเป็นประธานเปิดงาน และได้ประชุมร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานต่าง ๆ จึงมีมติในที่ประชุมจากหลักฐานทางประวัติประวัติ ประเพณีวัฒนธรรมต่อกันมาหลายช่วงอายุคน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองสงขลา จึงเห็นควรให้จัดงานวันสงขลาขึ้น ในวันที่ 10 มีนาคม เป็นประจำทุกปี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 11 มีนาคม 2567 เพื่อรำลึกถึงการสถาปนาเมืองสงขลา รวมทั้งบรรพชนคนสงขลาที่ได้ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน สร้างอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของคนสงขลา รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว อีกทั้งยังให้เยาวชนคนรุ่งหลังได้ร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานศิลปะท้องถิ่นภาคใต้ รวมถึงจังหวัดสงขลา ตลอดจนสร้างความรัก ความสามัคคีของพีน้องประชาชนชาวสงขลา สู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

.ด้านอาจารย์สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ได้กล่าวถึงประวัติของหลักเมืองสงขลาว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ตรงกับปีขาล จัตวาศกศักราช 1204 ตรงกับพ.ศ. 2385 โปรดให้จัดการฝังหลักไชยเมืองสงขลา ทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่ง ต้นเทียนไชยเล่มหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่าง ๆ และทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จพระอุดมปิฎก ประธานสงฆ์ฐานานุกรม 8 รูป ออกมาเป็นประธาน กับพระราชครูอัษฎาจารย์พราหมณ์กับพราหมณ์ ๘ นาย ออกมาเป็นประธานในการฝังเสาหลักเมืองสงขลาครั้น ณ เดือน 4 ขึ้น 12 ค่ำ เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ 10 นาที ได้อุดมฤกษ์พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับ พระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังที่กลางเมืองสงขลา ปรากฏอยู่ทุกวันนี้”

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีภารกิจในส่งเสริมและขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น และได้เห็นความสำคัญของการจัดงานวันสงขลา ซึ่งเป็นงานส่งเสริมเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการสถาปนาเมือง และบรรพชนของคนสงขลา รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและก่อให้เกิดรายได้ในจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงได้สนับสนุนงบประมาณบูรณาการร่วมการจัดงาน เป็นระยะเวลา 8 ปี เป็นเงินงบประมาณ ปีละ จำนวน 500,000 บาท เพื่อสนับสนุนการจัดเวที ระบบไฟฟ้าและไฟส่องสว่างบริเวณงาน และได้บรรจุโครงการเข้าในแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาในปีต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งจะจัดขึ้นภายในงานวันสงขลา 2567 ว่า “โครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา งานวันสงขลา ประจำปี 2567 ได้จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 8 โดยปีนี้จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 - 11 มีนาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ทั้งพิธีเวียนเทียนพระธาตุเจดีย์หลวงบนเขาตังกวน ณ ศาลาวิหารแดง ในช่วง 5 โมงเย็น วันที่ 9 มีนาคม ส่วนในวันที่ 10 มีนาคมช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรบรรพชนคนสงขลา 16 อำเภอ สำหรับอำเภอเมืองสงขลาจะจัดขึ้นบริเวณถนนนางงาม กิจกรรมสมโภชเสาหลักเมือง พิธีเจริญพระพุทธมนต์ทำบุญเมืองสงขลา และในช่วงบ่ายจะมีขบวนแห่เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจาก 16 อำเภอ ประกอบไปด้วยขบวนเอกลักษณ์ทางเศรษฐกิจ เอกลักษณ์พหุวัฒนธรรม เอกลักษณ์ศิลปิน เอกลักษณ์โหนด นา เล ในภาคค่ำจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ตลอด 3 วันของการจัดงานยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไฮไลต์อีกมากมาย ทั้งการแสดงวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของแต่ละอำเภอผ่านหมู่บ้านวัฒนธรรม 16 อำเภอ การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม การจัดแสดงนิทรรศการ “คนสงขลาคนต้นแบบ” การเสวนาทางวิชาการ และความบันเทิงผ่านการแสดงศิลปวัฒนธรรม หนังตะลุง มโนราห์ วงดนตรีลูกทุ่งตลอดทั้ง 3 คืน”