คณะแพทย์ ม.อ. จัดประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้


4 ส.ค. 2559

คณะแพทย์ ม.อ. จัดประชุมวิชาการประจำปีคณะแพทย์ ครั้งที่ 32 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านการแพทย์ พร้อมมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ให้แก่อายุรแพทย์จากโรงพยาบาลระนอง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งไทยและเพื่อนบ้านปีละเกือบ 3 แสนคน

q1.jpg

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 3 ส.ค. 59 ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 32 ภายใต้หัวข้อ “Healthcare in a Changing World” ระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน และให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในภาคใต้ รวมทั้งผู้ที่สนใจ ผ่านรูปแบบทั้งการบรรยาย ปาฐกถาพิเศษ และการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในหลากหลายรูปแบบ

โดยไฮไลท์ที่โดดเด่นของงาน คือ การมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ให้แก่แพทย์ที่ทุ่มเท และปฏิบัติตน เพื่อผู้ป่วยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ อย่างเต็มที่ ซึ่งควรแก่การเชิดชูเกียรติ และเผยแพร่คุณงามความดี ซึ่งในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2559 ได้แก่ นพ.นรเทพ อัศวพัชระ อายุรแพทย์จากโรงพยาบาลระนอง โดยทาง รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติ พร้อมกับช่อดอกไม้ เพื่อร่วมแสดงความยินดี

นพ.นรเทพ อัศวพัชระ อายุรแพทย์โรงพยาบาลระนอง กล่าวว่า อาชีพแพทย์ถึงแม้จะมีความหนัก และเหนื่อยมากก็ตาม แต่ให้คิดในแง่ที่ว่า อาชีพแพทย์ เป็นอาชีพที่ได้ทำบุญทุกวัน ได้ช่วยผู้ป่วยบางคนให้หายจากโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งได้ช่วยเหลือบางคนไม่เสียชีวิต หรือพิการ ซึ่งนอกจากช่วยเหลือคนไข้แล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือครอบครัวเขาอีกด้วย

สำหรับ นพ.นรเทพ อัศวพัชระ อายุรแพทย์โรงพยาบาลระนอง มีบาบาทสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลระนอง ซึ่งมีทั้งคนไทยประมาณ 180,000 คน ต่อปี และประชากรจากเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์ เนื่องจากมีพรมเดนติดกัน อีกเกือบ 100,000 คน ต่อปี โดยผู้ป่วยร้อยละ 60-70 เป็นโรคทางอายุรกรรม และเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสอง และ โรคไต บางครั้งก็มีโรคติดต่อทางชายแดน เช่น วัณโรค โรคเอชไอวี และ มาลาเรีย

นอกจากการทำหน้าที่แพทย์ในโรงพยาบาลระนองแล้ว นพ.นรเทพ ยังสมัครเป็นแพทย์ประจำหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลที่ว่า บทบาทหน้าที่ของแพทย์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาล แต่ยังมีผู้ป่วยในที่ชนบทห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก เช่น ตามเกาะ รวมทั้งคนยากจนที่ห่างไกล ด้อยโอกาสที่จะเข้าถึงการบริการ ที่จะต้องให้การช่วยเหลืออีกด้วย

q2.jpgq3.jpgq5.jpgq7.jpgq9.jpg