ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ม.อ. ผ่านกฤษฎีกา ปรับวิทยาเขตไม่เป็นนิติบุคคล


8 ม.ค. 2559

อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประธานคณะอนุกรรมการยกร่างข้อบังคับฯ ในการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 และผ่านความเห็นชอบเมื่อ 24 ธันวาคม 2558 ว่า

มีหลายส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยน ทำให้โดยภาพรวมแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะคล้ายกับ พ.ร.บ.ของ มหาวิทยาลัยในกำกับอื่นๆ แต่ที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือในหลักการในการร่างมีการเน้นความเป็นมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต และมีการย้ำเรื่องของวิทยาเขตเพื่อให้การบริหารงานมีความเป็นอิสระ คล่องตัว ไว้อีกในบางมาตรา ซึ่ง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับเปลี่ยนจากร่างเดิม คือการที่ วิทยาเขตจะไม่เป็นนิติบุคคล ซึ่งจะมีผลไปถึงการไม่เป็นหน่วยงบประมาณ และมีรายละเอียดถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกแก้ไข เช่น การไม่มีอธิการวิทยาเขต ส่วนโครงสร้างวิทยาเขตจะเป็นอย่างไร หรือจะมีสภาวิทยาเขตหรือไม่สามารถออกเป็นข้อบังคับได้ มีการปรับสัดส่วนของกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่ยังยึดหลักการที่ให้มีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมากกว่าบุคลากรภายใน จะมีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการรวมที่ประชุมคณบดีและที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัย (คบม.) เข้าด้วยกัน

จะมีสำนักงานสภา สำนักงานมหาวิทยาลัย สำนักงานวิทยาเขต แต่จะไม่มีส่วนงานที่เป็น “ศูนย์” ใน ร่าง พ.ร.บ. ใหม่ ซึ่งหากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ใหม่ หน่วยงานที่เป็น “ศูนย์” อยู่ในปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนชื่อ และใน ร่าง พ.ร.บ. ใหม่จะไม่มีการพูดถึงภาควิชา ดังนั้นการจะมีภาควิชาหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายมหาวิทยาลัย ในมาตรา 13 เขียนไว้ว่า “กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับการคุ้มครองและประโยชน์ ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน” และได้มีเพิ่มในมาตรา 93 วรรคสาม ว่า “พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะข้าราชการบำนาญแล้ว ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ” ซึ่งเป็นไปตามที่ประชาคมร้องขอ

หลังจากการปรับแก้ของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ก่อนจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ที่ถูกปรับแก้ เข้าขอความเห็นจากสภามหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการนำเข้าสภามหาวิทยาลัยเป็นวาระพิจารณาในวันที่ 9 มกราคม 2559 หากไม่มีข้อท้วงติง จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากผ่านจะเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายของ สนช. และเสนอเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จในกลางปี 2559

ในระหว่างนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมการในเรื่องของข้อบังคับ เพื่อให้ได้มาซึ่งสภามหาวิทยาลัยชุดแรก ซึ่งมีองค์ประกอบเปลี่ยนไปตามที่ได้ระบุใน พ.ร.บ. ใหม่ และเมื่อ พ.ร.บ.ใหม่ประกาศใช้ ต้องมีการดูแลเรื่องการเปลี่ยนถ่าย สิทธิประโยชน์ ทรัพย์สิน ภาระผูกพัน รายได้ บุคลากร และอื่นๆ ที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ.เก่า เพื่อเข้าสู่ พ.ร.บ.ใหม่ ตามเงื่อนไขการเปลี่ยนถ่ายที่ได้เขียนเอาไว้ ซึ่งบางเรื่องเช่นเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย หากมีการยกร่างข้อบังคับจะต้องมีการนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคม ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย

1.png2.png

“ส่วนที่ต้องทำความชัดเจนคือเรื่องการปรับเงินเดือนของข้าราชการที่เปลี่ยนเป็นพนักงาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาหมวดเงินอุดหนุนกับสำนักงบประมาณ ซึ่งคาดหวังจะได้ไม่ต่ำกว่าของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว คือประมาณ 1.6 เท่า แต่มหาวิทยาลัยจะดึงไว้ส่วนกลางส่วนหนึ่ง อาจจะเป็น .2 หรือ .3 เพื่อนำมาดูแลด้านสวัสดิการ เงินชดเชยเมื่อเกษียณอายุ หรือค่ารักษาพยาบาล ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละมหาวิทยาลัย” รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว

บุคลากรที่เป็นข้าราชการ คงจะต้องมีการคิดวางแผนล่วงหน้า ว่าจะเลือกเป็นข้าราชการไปจนเกษียณอายุ หรือ จะปรับเปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เมื่อมี พ.ร.บ.ใหม่ ออกมาแล้วจะได้ตัดสินใจได้ในปีแรก ซึ่งไม่ต้องผ่านการประเมิน แต่หลังจากนั้นจนถึง 3 ปีจะต้องผ่านระบบประเมิน เพื่อบรรจุเป็นพนักงาน