สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่12


20 ก.ย. 2559

(19 ก.ย. 59) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่12 จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่6 ถนนทุ่งควนจีน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

79.jpg

ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่12 จังหวัดสงขลา เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2543 ในบริเวณที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ รับผิดชอบให้บริการแก่โรงพยาบาลเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง 7 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาถึง 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2543 และปี 2553 ส่งผลให้อาคาร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ประกอบกับอาคารหลังเดิมคับแคบ ชำรุดทรุดโทรม และที่ดินบริเวณโดยรอบมีจำนวนจำกัด ไม่สามรถรองรับการขยายศักยภาพของภาคบริการโลหิตฯ จึงจำเป็นต้องจัดหาสถานที่และก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทดแทนอาคารหลังเดิม

เนื่องในพุทธศักราช 2555 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงได้จัดโครงการก่อสร้างอาคารภาคบริการโลหิตที่12 จังหวัดสงขลาแห่งใหม่ เนื้อที่2-3-83 ไร่ สำหรับการก่อสร้าง อาคารภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่12 จังหวัดสงขลา เพื่อรองรับการขยายงานบริการโลหิตแบบครบวงจร เป็นมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาคาร งานระบบ ครุภัณฑ์ และเครื่องมืออุปกรณ์ เป็นเงิน 104,537,144 บาท และได้รับพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่12 จังหวัดสงขลา ” 

อาคารภาคโลหิตแห่งชาติที่12 ฯ เป็นอาคาร 3 ชั้น ซึ่งได้รับการออกแบบที่สวยงามและทันสมัย มีพื้นที่ใช้งาน 2,629 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคาร1 อาคารปฏิบัติงานหลัก สูง 3 ชั้น บริเวณชั้น1 มีห้องโถที่กว้างขวาง สะดวกสบาย สามารถรองรับผู้มาบริจาคโลหิตถึง 300 คน ส่วนของห้องเจาะโลหิต มีเตียงรับบริจาคโลหิตที่ได้มาตรฐาน 10 เตียง และห้องจ่ายโลหิต ที่พร้อมให้บริการแก่โรงพยาบาลในเครือข่าย 24 ชั่วโมง มีห้องเย็นเก็บรักษาโลหิตและส่วนประกอบโลหิต ห้องเย็นเก็บรักษาโลหิตและส่วนประกอบโลหิต ที่ควบคุมอุณหภูมิ 1-6 c และ -30 c รวมทั้ง มีห้องล้างทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมือห้องปฏิบัติการ และห้องเก็บถุงบรรจุโลหิต ที่พร้อมใช้งานรับบริจาคโลหิตในสถานที่และหน่วยเคลื่อนที่

บริเวณชั้น 2 ประกอบด้วย ห้องปั่นแยกส่วนประกอบโลหิต ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ได้มาตรฐานเดียวกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โลหิตที่ได้จากการบริจาค 1 ถุง หรือ 1 ยูนิต จะนำมาแยกเป็นส่วนประกอบของโลหิตได้หลายชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา เป็นการใช้โลหิตอย่างคุ้มค่า ทำให้ผู้ป่วยได้รับเฉพาะส่วนประกอบโลหิตที่จำเป็นเท่านั้น บริเวณชั้นที่ 3 ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการจรวจคัดกรองโลหิต ทำหน้าที่ตรวจหมู่โลหิตระบบ ABO และระบบ Rh ด้วยเครื่องตรวจอัตโนมัติ การตรวจแอนติบอดี ของหมู่โลหิตต่างๆ ในน้ำเหลือง การตรวจคัดกรองโรคที่ติดต่อทางโลหิต โดยวิธีน้ำเหลืองวิทยา (serology) และการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Nucleic Acid Amplification Technique (NAT) ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีความไวสูงในการตรวจหาเชื้อโรคที่ติดต่อทางโลหิต มีห้องควบคุมงานระบบอาคารและห้องประชุมใหญ่ พร้อมอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ที่ครบครัน

อาคารที่2 อาคารหอพัก เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้งาน 360 ตารางเมตร ชั้น1 เป็นห้องเก็บของและเตรียมอุปกรณ์ออกหน่วยรับบริจาคโลหิต และห้องพักเจ้าหน้าที่ชั้น2 เป็นห้องพักเจ้าหน้าที่ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน เช่น การตรวจคัดกรองโลหิตที่ส่งตรวจในภาคค่ำ การจ่ายโลหิตได้ 24 ชั่วโมง

อาคารที่3 อาคารซ่อมบำรุง เป็นอาคาร1 ชั้น มีห้องซ่อมบำรุงระบบอาคาร ห้องแผงไฟฟ้าหลักของอาคาร ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ห้องปั๊มน้ำ เป็นส่วนสนับสนุนให้ระบบการทำงานต่างๆภายในทุกส่วนของอาคาร รวมทั้งเครื่องมืออุปกรณ์สำคัญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติ งาน อาคารที่4 อาคารพักขยะ เป็นอาคาร 1 ชั้น ใช้ในการพักขยะทั่วไป และขยะติดเชื้อ เพื่อให้เกิดความสะอาด ปลอดภัย ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินงานบริการดลหิตของประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 โดยมีภารกิจหลักในการจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ มีความปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุด เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับงานบริการโลหิตให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงได้จัดตั้งภาคบริการโลหิตแห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 12 ภาค โดยแบ่งตามภาคของเหล่ากาชาดจังหวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการให้บริการงานโลหิตในแต่ล่ะภูมิภาค และมีนโยบายขยายภารกิจงานบริการโลหิตของภาคบริการโลหิตแห่งชาติให้สามารถดำเนินงานได้ครบวงจร เป็นมาตรฐานเดียวกันกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

78.jpg77.jpg80.jpg76.jpg