ม.อ.และ สมอ.ร่วมมอบใบอนุญาต มอก. แผ่นยางปูพื้นรายแรกของประเทศ


23 ก.ย. 2559

ศูนย์ข่าวบ้านเรา.- กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ทำพิธีมอบใบอนุญาต มอก. หลังปั้นชุมชนสวนยางสตูลได้รับการรับรอง สร้างรายได้ให้เกษตรกร ไม่ถึงเดือน 7 ล้านบาท

14408111_1792184577725287_803549609_o.jpg
วันที่ 22 กันยายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) สนองตอบนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางระยะยาว โชว์ผลงานหลังปลุกปั้นชุมนุมชาวสวนยางขอ มอก. ประสบผลสำเร็จ ลงพื้นที่มอบใบอนุญาต มอก.2273-2551 แก่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด รายแรกที่ได้รับการรับรอง สร้างรายได้หลังได้รับอนุญาตแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำส่งผลกระทบต่อการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกยางยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 21.4 ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนเลิกปลูกยางพาราหันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เกิดการชะลอการทำสวนยางของเกษตรกรรายใหม่เนื่องจากต้นทุนการผลิตยางที่สูง ขึ้นจากวัตถุดิบประกอบ เช่น ปุ๋ยเคมี และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกยางพาราอยู่ประมาณ 22 ล้านไร่

จากปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวน ยาง ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ การรับซื้อยางในราคาสูงกว่าท้องตลาด การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ เปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้ใช้ยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก โดยการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างกลไกผลักดันราคายางในประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้น มุ่งเน้นนวัตกรรมการนำยางพารามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรม และจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) เป็นต้น

กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ทำจากยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีการนำยางพารามาใช้กันอย่างแพร่ หลาย ซึ่งจะส่งผลให้น้ำยางพาราที่เกษตรกรผลิตขึ้นมีการซื้อขายทำให้เกิดการหมุน เวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าราคายางในประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราให้มากยิ่งขึ้น

14453865_1792184467725298_497352673_o.jpg

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ขานรับนโยบายดังกล่าวโดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อเร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่ทำจากยางพาราให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น แผ่นยางปูสนามฟุตซอล แอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ และน้ำยางเคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ รวมทั้งมาตรฐานอื่นๆ ที่นักวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยและสามารถนำมาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมได้

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยาง จำนวน 164 มาตรฐาน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางมากกว่า 95% ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน สำหรับในปีงบประมาณ 2559 สมอ. ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การกำหนดมาตรฐาน จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ ถุงนิ้วยาง ยางชะลอความเร็ว ยางปูพื้นรถยนต์ ยางปัดน้ำฝน ยางรัดของ และยางโอริง ขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว นอกจากนี้ สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางที่มีแนวโน้มการใช้งานในภาครัฐเป็นการเร่งด่วน เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้งานยางพาราภายในประเทศแล้วเสร็จ จำนวน 5 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานแอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ แผ่นยางปูสนามฟุตซอล ฟองน้ำลาเทกซ์สำหรับทำหมอน และฟองน้ำลาเทกซ์สำหรับทำที่นอน และน้ำยางเคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ และคาดว่า สมอ. จะพร้อมให้การรับรองได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ สมอ. ได้ปรับปรุงกระบวนการกำหนดมาตรฐาน โดยลดขั้นตอนการทำงาน และปรับรูปแบบการดำเนินงานทางวิชาการ ทำให้สามารถกำหนดมาตรฐานได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับการมอบใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางปู พื้น มอก. 2377-2551 แก่ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด ในวันนี้ เป็นสถาบันเกษตรกรยางพาราไทยรายแรกที่ได้รับการรับรอง โดยความร่วมมือระหว่าง สมอ. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการด้านการควบคุมคุณภาพ และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการพึ่งพาตนเอง โดยไม่รอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐฝ่ายเดียว ขณะเดียวกันก็เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะพัฒนาตนเอง ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ

อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานของชุมนุมสหกรณ์ฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จก้าวแรกของความร่วมมือระหว่างหน่วยภาครัฐ ภาคการศึกษา และผู้ประกอบการ SMEs ทำให้เกิดการพัฒนายางพาราอย่างครบวงจร ซึ่ง มอ. พร้อมจะเดินหน้าไปกับ สมอ. เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และร่วมดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม รองรับผลิตภัณฑ์ยางพาราใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายชำนาญ เมฆตรง ประธานสหกรณ์ชุมนุมกองทุนสวนยางสตูล จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่สหกรณ์ฯ ได้รับความช่วยเหลือจาก สมอ. และ มอ. อย่างต่อเนื่อง สหกรณ์ฯ ได้ยื่นคำขออนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในการดำเนินการ โดยได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เมื่อวันที่ 12 กันยายน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารามีคุณภาพได้มาตรฐาน เกิดความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ สามารถขยายช่องทางการจำหน่ายแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีระเบียบพัสดุกำหนดให้จัด ซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ที่ได้ มอก. ซึ่งล่าสุดหน่วยงานภาครัฐได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยางปูพื้นแล้วถึง 7,000,000 บาท และขณะนี้มีอีกหลายหน่วยงานต้องการใช้ยางปูพื้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

“อย่างไรก็ตามความต้องการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารายังมีอีกมาก เนื่องจากยางพาราเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้หลายสาขา และผลงานนวัตกรรมจากยางพาราใหม่ๆ สามารถนำไปต่อยอดซึ่งนับเป็นการสนับสนุนให้ทุกชุมชนพึ่งพาตัวเองและพัฒนา ธุรกิจได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

14454062_1792184527725292_1544678207_o.jpgIMG_9940.JPG