ทางรอดยางพาราไทย แสงไฟที่ปลายอุโมงค์


30 พ.ย. 542

ทางรอดยางพาราไทย แสงไฟที่ปลายอุโมงค์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง นายสิงหนาท เอียดจุ้ย

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

228.jpg

จากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งโหมกระหน่ำเกษตรกรชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง และนับวันยิ่งทวีความเดือดร้อนมากขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนมากได้ระดมความคิดเพื่อหาทางช่วยเหลือปัญหาราคายางตกต่ำ โดยการหาทางออกให้กับผู้ประกอบการยางพาราและเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ได้จัดสัมมนา เรื่อง “เศรษฐกิจภาคใต้กับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” ณ โรงแรมหรรษาเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

และได้มีการนำเสนอผลการศึกษาเชิงลึกของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เรื่อง ความสามารถของการส่งออกยางไทยภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลก พบว่า ผลผลิตยางพาราไทยปี พ.ศ. 2557 มีผลผลิตประมาณ 4.2 ล้านตัน จากทั้งหมดทั่วโลก 12 ล้านตัน นับว่าผลผลิตยางพาราของไทยเป็น 1 ใน 3 ของโลก โดย 85% เป็นการส่งออกในรูปแบบวัถุดิบ และ 15% ใช้ในประเทศ มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราไทยประมาณ 1 ล้านครอบครัว รายได้จากยางพารา คิดเป็น 4% ของ GDP ของประเทศ และสถานการณ์ราคายางพารา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบันอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ดังภาพ

cats (1).jpg

สถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว แต่ผลผลิตยางพารากลับมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากในปี พ.ศ. 2547 ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้มีการปลูกยางพาราในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ ประกอบกับประเทศใกล้เคียงก็หันมาปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จึงทำให้ผลผลิตยางพาราในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณยางพาราที่ต้องการขายมีปริมาณมากกว่าความต้องการซื้อ ประกอบกับที่ผ่านมีการเก็บ สต๊อกยางของนักลงทุนเพื่อเก็งกำไร

โดยวิกฤตสถานการณ์ราคายางนี้ไม่สามารถคลี่คลายได้ในเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนและประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพต่าง ๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น นักเรียน นักศึกษาที่เป็นลูกหลานเกษตรกรชาวสวนยาง ส่วนหนึ่งต้องออกจากการเรียนกลางคัน เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียให้เรียน

จากปัญหาราคายางตกต่ำ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ออกมาตรการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบยาง แต่ปัญหาก็ยังไม่คลี่คลาย และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 เครือข่ายแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาชาวสวนยาง 6 ข้อ คือ

1) แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ 2) ชดเชยราคายาง 3) ดูแลคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง 4) ลดต้นทุนขบวนการผลิต 5) ลดค่าครองชีพชาวสวนยาง และ 6) ขึ้นทะเบียนชาวสวนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่การเรียกร้องนี้รัฐบาลมองว่าไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างถาวร ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่มีนโยบายการแทรกแซงราคายาง แต่ส่งเสริมให้เกษตรกรทำอาชีพเสริม รวมถึงหารายได้อื่น ๆ เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้

ทั้งนี้ หากรัฐบาลปัจจุบัน และรัฐบาลที่จะเข้ามาในอนาคตไม่เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ให้การช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เกษตรกรชาวสวนยางก็จะเกิดการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเมื่อถึงจุดนั้น อุปสงค์และอุปทานจะเกิดความสมดุลกัน ประกอบกับหากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ราคายางพาราอาจจะปรับขึ้นถึงร้อยบาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากในช่วงที่ราคายางตกต่ำ ปริมาณยางที่ผลิตออกมาทั้งโลกสามารถขายได้ทั้งหมด และยอดขายล้อรถยนต์มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 3-5% อีกทั้งพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกยางในประเทศไทยได้ทำการปลูกยางหมดแล้ว

นอกจากนี้เกษตรกรสวนยางจำนวนหนึ่งได้โค่นต้นยางพารา เพื่อปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนเร็วและคุ้มค่ากว่า อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนได้หันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ทดแทน เนื่องจากมีรายได้สูงกว่าการกรีดยาง การหาทางออกให้กับยางพาราไทยต้องหาวิธีการในการนำยางส่วนหนึ่งที่เป็นผลผลิตมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐ เอกชน และชาวสวนยางควรร่วมมือกันพัฒนาสินค้ายางพาราให้เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา อีกทั้งนักวิชาการ และนักวิจัยทั้งหลายต้องช่วยทำการศึกษาและวิจัยเพื่อค้นหาว่ายางพาราสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใดได้บ้าง และต้องการให้ภาครัฐบาลหน่วยงานใดส่งเสริม สนับสนุนอย่างไร อีกทั้งภาครัฐต้องบริหารจัดการพื้นที่ปลูกยางอย่างเหมาะสม พื้นที่ใดเหมาะสมที่จะปลูกยางก็สนับสนุนเฉพาะพื้นที่ นอกจากนี้ควรมีการร่วมมือระหว่างบริษัทร่วมทุนต่างประเทศในการเข้ามาตั้งฐานการผลิต แปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามทางออกที่เกษตรกรสามารถทำได้ขณะนี้ คือ การปรับตัว ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ปลูกพืชอื่นแซมเพื่อเพิ่มรายได้ มุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตยางพาราต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยช่วง 5 ปีนี้หากอดทนได้ อนาคตข้างหน้าทางรอดยางพาราไทย ต้องเห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงค์อย่างแน่นอน...