ม.อ. เยียวยานักศึกษาประสบอุทกภัย พร้อมร่วมแก้ปัญหาคาบสมุทรสทิงพระ


17 ม.ค. 2560

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ทุนช่วยเหลือนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามระดับของผลกระทบ เล็งระดมสมองผู้เกี่ยวข้องศึกษาแก้ปัญหาพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ หลังประสบความสำเร็จจากการจับมือหลายหน่วยงานร่วมดูแลพื้นที่หาดใหญ่

15894795_1338868659498737_6241727263911541756_n.jpg

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากการที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดภาคใต้เมื่อต้นปี 2560   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้ง 5 วิทยาเขตได้ร่วมกันเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยใน 6 จังหวัด 24 อำเภอในภาคใต้ โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากร นักศึกษา และภาครัฐและเอกชน  ซึ่งจนถึงกลางเดือนมกราคม 2560 ได้มีการนำน้ำดื่ม 45,764 ขวด ยา 22,027 ชุด  เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 12,587 ครอบครัว  และมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือจำนวน 1,600,000บาท  

นอกจากนั้น ยังได้กำหนดแนวทางการในการดูแลนักศึกษาในทุกวิทยาเขต  โดยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบแจ้งมายังมหาวิทยาลัยภายในวันที่ 31 มกราคม 2560  ต่อจากนั้นจะมีการสัมภาษณ์เพื่อประเมินระดับความเดือดร้อน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการยางพารา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา สภามหาวิทยาลัยอนุมัติความช่วยเหลือใน 3 ส่วนคือ   ด้านค่าธรรมเนียมการศึกษา ทั้งการผ่อนผันการชำระเป็นกรณีพิเศษ และการให้ทุนประเภท ยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา  ด้านการจัดสรรทุนการศึกษาแบบให้เปล่า โดยแบ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบมาก  2,500 บาท  ระดับปานกลาง 2,000 บาท ผู้ได้รับผลกระทบน้อย  1,000 บาท รวมทั้งด้านการให้ทุนทำงานแลกเปลี่ยน ชั่วโมงละ 40 บาท

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้มีการศึกษาดูแลเรื่องอุทกภัยภาคใต้มาตั้งแต่การเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่หาดใหญ่ ในปี 2553  โดยมุ่งเน้นการดูแลพื้นที่หาดใหญ่เป็นหลัก  มีสถานวิจัยที่ทำงานร่วมกันเพื่อดูแลเรื่องนี้  และได้เข้าร่วมกับคณะทำงานซึ่งจังหวัดสงขลาจัดตั้งขึ้น เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ โดยมีคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน เป็นต้น ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวมีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง  อย่างไรก็ตามได้มีการพูดคุยกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลเพิ่มเติมที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน  เนื่องจากเกิดฝนตกหนักมากและน้ำในทะเลสาบไหลออกสู่อ่าวไทยได้ทางเดียว  จึงร่วมกันหาวิธีการและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จในพื้นที่หาดใหญ่

15940923_397001987302574_6163131362353171822_n.jpg15940967_10208480203784692_6149954863711534724_n.jpg