บทความการเงินน่ารู้ ตอน ข้อควรรู้เกี่ยวกับบริการเช่าซื้อ


25 ม.ค. 2560

ข้อควรรู้เกี่ยวกับบริการเช่าซื้อ

002.jpg

การเช่าซื้อถือเป็นบริการทางการเงินประเภทหนึ่งที่ใกล้ตัวผู้บริโภค แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ที่ผ่านมาศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (สายด่วน 1213) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเช่าซื้อมาเป็นจำนวนมาก ในประเด็นที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมที่ผู้ให้บริการเช่าซื้อเรียกเก็บจากลูกหนี้ เช่น ค่าหนังสือทวงถามหนี้ ค่าหนังสือบอกเลิกสัญญา ค่าติดตามยึดทรัพย์คืน และยอดหนี้คงเหลือหลังจากขายทอดตลาดทรัพย์สินหักชำระหนี้แล้ว ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ใช้บริการเช่าซื้อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นและลดข้อพิพาทให้น้อยลง ข้อชี้แจงด้านล่างนี้สามารถตอบโจทย์นี้ได้

เช่าซื้อ เป็นบริการที่ผู้ให้บริการ(ผู้ให้เช่าซื้อ) นำทรัพย์สินของตนมาให้ผู้ใช้บริการ(ผู้เช่าซื้อ) ทำการเช่าเพื่อใช้ประโยชน์ โดยที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังคงเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อมีสิทธิครอบครองใช้งานทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นได้ ผู้เช่าซื้อมีภาระผ่อนชำระค่างวดเป็นจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด เพื่อเป็นค่าซื้อทรัพย์สินที่เช่าซื้อรวมกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในอัตราดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของ ผู้เช่าซื้อก็ต่อเมื่อได้ชำระค่างวดครบตามสัญญาแล้ว

การผิดสัญญาเช่าซื้อ กรณีผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่างวดตามที่กำหนด ผู้ให้เช่าซื้อจะทวงถามหนี้โดยทางจดหมายหรือให้พนักงานติดตามทวงถาม ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือทวงถาม และค่าหนังสือบอกเลิกสัญญา ในกรณีที่ค้างค่างวดเกิน 3 งวด โดยจะเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อ ทำให้
ผู้เช่าซื้อ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก

การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ หลังจากที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้ชำระค่างวดครบ 3 งวด ผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ให้เช่าซื้อจะให้เวลาอีก 30 วัน นับจากวันที่ได้มีหนังสือทวงถาม หากผู้เช่าซื้อยังไม่ผ่อนค่างวดจะถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยอัตโนมัติ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กับผู้ให้เช่าซื้อ หากไม่ส่งมอบ ผู้ให้เช่าซื้อจะให้พนักงานติดตามเพื่อยึดทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาอยู่ในความครอบครอง ซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าติดตามยึดทรัพย์สินเกิดขึ้นอีก และเป็นภาระหนี้ที่ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อมีปัญหาในการผ่อนค่างวด ก็ควรจะรีบติดต่อผู้ให้เช่าซื้อเพื่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อระงับค่าติดตามทวงถามหนี้ไม่ให้เกิดขึ้น และในกรณีที่ไม่สามารถผ่อนค่างวดได้แล้วจริงๆ ก็ควรจะส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้กับผู้ให้เช่าซื้อโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีค่าติดตามยึดทรัพย์คืนเกิดขึ้น

หนี้คงเหลือหลังขายทอดตลาด หลังจากได้ทรัพย์สินกลับคืนมา ผู้ให้เช่าซื้อจะนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่างวดและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากมียอดหนี้ค้างอยู่อีก ผู้เช่าซื้อก็ยังคงมีภาระต้องชำระหนี้ที่เหลือนั้น หากผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ที่เหลือจนครบ ผู้ให้เช่าซื้อก็ยังสามารถจะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันมาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่เหลือต่อไปได้อีก

การทวงถามหนี้ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ หากผู้เช่าซื้อได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในการทวงถามหนี้จากเจ้าหนี้หรือตัวแทน เช่น ใช้วาจาไม่สุภาพ ข่มขู่ ดูหมิ่น ใช้ความรุนแรง หรือการะทำการอื่นใดให้เกิดความเสียหาย ผู้เช่าซื้อสามารถจะร้องเรียนไปยังผู้ให้เช่าซื้อนั้น หรือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง เช่น สถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการปกครองจังหวัด กรมการปกครอง หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

การร้องเรียน หากท่านได้รับบริการที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมจากสถาบันการเงิน สามารถร้องเรียนไปยังสถาบันการเงินนั้น ๆ ได้โดยตรง หากสถาบันการเงินที่กล่าวยังเพิกเฉย ท่านสามารถร้องเรียนไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (สายด่วน 1213) ของ ธปท.ได้ และในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ท่านสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ท่านได้

1213.jpg