ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนเมษายน 2560


1 พ.ค. 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2560 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่าเป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 56.80 เพศชาย ร้อยละ 43.20 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 31.70  และมีระดับการศึกษามัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 / ปวช. / ปวส. คิดเป็นร้อยละ 42.40 

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนเมษายน เปรียบเทียบ

เดือนมีนาคม  และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

01.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนเมษายน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม  ส่วนหนึ่งมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า  รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์  โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องมาจากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ที่กระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้ามาเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งสร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท(www.manager.co.th , 28 เมษายน 2560) และปัจจัยบวกจากนโยบายภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดงบประมาณกว่า 3หมื่นล้านบาทต่อปี ให้เป็นสวัสดิการคนจนที่ลงทะเบียนแล้วทั่วประเทศกว่า 10 ล้านคน (www.innnews.co.th, 28 เมษายน 2560)

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 22.60 และ 34.20 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 29.70 เท่ากันในทั้งสองด้าน โดยคาดว่า ปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว เนื่องจากเดือนพฤษภาคมมีวันหยุดหลายวัน และการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียน ทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาสินค้าคิดเป็นร้อยละ 25.60 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ และหนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 23.40 และ12.50 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้า และหนี้สินครัวเรือนตามลำดับ