กฟผ. เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย


15 พ.ค. 2560

กฟผ. เปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก รวมเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ 4 ชนิด แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน พร้อมเปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งใหม่ของภาคกลางตอนล่าง 

20.jpg

(15 พฤษภาคม 2560) นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน ร่วมพิธี 

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักตลอดมา เพื่อสนองตอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ พ.ศ. 2558 – 2579 หรือ AEDP2015 ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดทำขึ้น

ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กฟผ. ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานและในอนาคต กฟผ. จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาผลิตไฟฟ้าด้วยการพัฒนาพลังงานทางเลือกแบบผสมผสานโดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบ Hybrid และการวิจัยพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้นเพื่อสนองตอบนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก มีขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ต้องการสร้างให้เป็นแหล่งศึกษาและวิจัยประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ได้ติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ถึง 4 ชนิด ไว้ในพื้นที่เดียวกันแห่งเดียวในประเทศไทย ประกอบด้วย ชนิดที่ 1 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (Crystalline Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำมาติดตั้ง ชนิดที่ 2 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ชนิดที่ 3 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดไมโครคริสตอลไลน์อะมอร์ฟัสซิลิคอน (Micro Amorphous Silicon) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และชนิดที่ 4 ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดสารประกอบของคอปเปอร์อินเดียมแกลเลียมไดเซเลไนด์ CI(GS)S (Copper Indium Galliam Di-Selenide) ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดที่ 2 – 4 ใช้การติดตั้งแบบคงที่

โดย กฟผ. จะทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของเทคโนโลยีแต่ละชนิดว่ามีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและฝนตกชุกตลอดทั้งปีหรือไม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลทั่วประเทศต่อไป นอกจากนี้ กฟผ. ได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก หรือ ศูนย์การเรียนรู้ “คิดดี” โดยออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงาน พื้นที่ประมาณ 1,700 ตารางเมตร โดยนำลักษณะอาคารพื้นถิ่นริมทะเลและเรือประมงมาประยุกต์ ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก

สำหรับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงาน ภารกิจของ กฟผ. รวมทั้งประวัติความเป็นมาและสิ่งที่น่าภูมิใจของชุมชนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานและชุมชนทับสะแกมากขึ้น โดยจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้อยู่ที่โรงภาพยนตร์ 4 มิติ และการนำเสนอข้อมูลความรู้ด้านพลังงานในรูปแบบของสวนสนุกซึ่งใช้ตัวการ์ตูนเป็นตัวแทนของพลังงานธรรมชาติที่จะสร้างความน่าสนใจและแรงบันดาลใจเชิงบวกให้กับผู้เข้าชม โดยเฉพาะนักเรียนและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และในโอกาสนี้นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท CMO จำกัด มหาชน บริษัทคู่สัญญางานสื่อจัดแสดงในศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก ได้มอบหนังสือมูลค่า 100,000 บาท ให้ กฟผ. นำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

19.jpg

“วันนี้ นอกจาก กฟผ. จะมีพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแกและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแกอย่างเป็นทางการแล้ว กฟผ. ยังได้มอบอุปกรณ์การแพทย์มูลค่ากว่า 782,000 บาท ให้กับแพทย์หญิงสุภาภรณ์ ภมรสูตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทับสะแก เพื่อใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยและประชาชนที่มารับบริการจากโรงพยาบาลทับสะแก มอบรถฉุกเฉินมูลค่ากว่า 470,000 บาท ให้กับนายชาญชัย กัยวิกัยกำเนิด ประธานมูลนิธิสว่างรุ่งเรือง ธรรมสถาน อำเภอทับสะแก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ

กฟผ. ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลา 48 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมครอบคลุมทุกขั้นตอนการดำเนินงาน และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานไฟฟ้า เพื่อความสุขของคนไทย ควบคู่กับการพัฒนาสังคมชุมชนและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวในที่สุด 

ด้านนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้ามาใช้มีหลายวิธี ซึ่ง กฟผ. ก็ได้คิดค้นและเลือกวิธีการผลิตที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศ เช่น การมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทับสะแกนี้ ก็เป็นพลังงานสะอาด ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และ กฟผ. ยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ที่จะได้รับความรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้า โดย กฟผ. อาจมีหนังสือเชิญชวนไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีอยู่กว่า 200 โรงเรียน ให้มาชมศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคมต่อไป โดยหาก กฟผ. จะสนับสนุนเรื่องการเดินทางมาเยี่ยมชมด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก

18.jpg21.jpg