หาดใหญ่โพลเผย คนใต้คิดอย่างไรกับกับการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


18 พ.ค. 2560

สรุปผลการสำรวจหาดใหญ่โพล  HATYAI  POLL เรื่อง “ ประชาชนคิดอย่างไรกับการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

20058.jpg

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนในจังหวัดสงขลา จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 3-8  พฤษภาคม  2560 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

 

สถานภาพของกลุ่มตัวอย่าง

กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 53.00)  มีอายุ 31- 40 ปี  (ร้อยละ 35.75) รองลงมา มีอายุ 41- 50 ปี (ร้อยละ 27.50)  และมีอายุ 21- 30 ปี (ร้อยละ 23.25) ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างมีอาชีพรับจ้างทั่วไป  (ร้อยละ  24.50)  รองลงมา  พนักงานบริษัท/ลูกจ้าง  ประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย และนักเรียนและนักศึกษา คิดเป็นร้อยละ  20.25  17.25  และ 9.75  ตามลำดับ

 

สรุปผลการสำรวจ

รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน  รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร้อยละ 81.00)  โดยรับทราบผ่านสื่อโทรทัศน์ มากที่สุด (ร้อยละ 74.69)  รองลงมา  สื่อหนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 13.27) และสื่อ Social Media (ร้อยละ 12.65) ตามลำดับ 

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ร้อยละ 62.00)  และร้อยละ 38.00 ไม่เห็นด้วย  เมื่อพิจารณาเป็น   รายประเด็น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยมากที่สุด ประเด็นการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมี 2 รูปแบบ  ได้แก่ อบจ. และเทศบาล (ร้อยละ 74.00)  รองลงมา เป็น ประเด็นการเปลี่ยนบทบาทให้ อบจ.เป็นฝ่ายสนับสนุนประสานงานในภาพรวมของจังหวัดที่ไม่ซ้ำซ้อนกับเทศบาล  (ร้อยละ 65.25) และประเด็น  การควบรวมองค์กรบริหารส่วนตำบลขนาดเล็กและเทศบาล โดยใช้เกณฑ์ของรายได้หรือจำนวนประชากร (ร้อยละ 60.50) ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ27.25 เห็นว่าได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปในระดับมากและมากที่สุด ร้อยละ 38.75 เห็นว่าได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปในระดับปานกลาง

ส่วนการปฏิรูปด้วยการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลเล็กๆ ให้มารวมเป็นเทศบาล ประชาชนเห็นว่าจะเกิดผลดี โดยให้เหตุผลประกอบที่สอดคล้องกันมากที่สุดว่า  เป็นการลดความซ้ำซ้อนของงานและการทับซ้อนพื้นที่ (ร้อยละ 38.00) รองลงมา เป็นการประหยัดงบประมาณ (ร้อยละ 29.50) และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่น (ร้อยละ 17.75) ตามลำดับ ส่วนผลเสียประชาชนเห็นสอดคล้องกันมาที่สุดว่าผู้สูญเสียผลประโยชน์จะสร้างความปั่นป่วน (ร้อยละ 39.50) รองลงมา เกิดความล่าช้าในการบริหารจัดการองค์กร (ร้อยละ 34.50) และประชาชนได้รับบริการที่ล่าช้าและไม่เต็มที่ (ร้อยละ 21.00) ตามลำดับ

ส่วนประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 5 ปี  ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย (ร้อยละ 56.25) โดยให้เหตุผลสอดคล้องกันว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน (ร้อยละ 56.44)  รองลงมา เป็นการกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น      (ร้อยละ 18.22) และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่น (ร้อยละ 17.78) ตามลำดับ ส่วนร้อยละ  ที่เห็นว่าผลเสียจากการดำรงตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 5 ปี  ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าประชาชนเห็นว่าจะสร้างความแตกแยกของประชาชน (ร้อยละ 41.67) รองลงมา สิ้นเปลื้องงบประมาณในการเลือกตั้ง (ร้อยละ 33.33) และเกิดความไม่ต่อเนื่องในการบริหาร   (ร้อยละ 21.15) ตามลำดับ

ส่วนสิ่งที่ประชาชนต้องการจากการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  มากที่สุด เป็นการบริหาร  ที่สร้างความประทับใจในการบริการประชาชน  (ร้อยละ 41.25)  รองลงมา ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง   (ร้อยละ 39.00) และไม่เกิดการทุจริตการสอบแข่งขันเข้าทำงาน (ร้อยละ 31.00) ตามลำดับ