ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนพฤษภาคม 60


1 มิ.ย. 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนพฤษภาคม 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2560 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 52.20 เพศชาย ร้อยละ 47.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 34.60  และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 38.30     

02.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนพฤษภาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง  เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน  ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของผู้บริโภคต่อค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียน และเหตุการณ์ระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีการปรับตัวลดลงได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า  รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาริมทรัพย์  และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เนื่องมาจากความกังวลของผู้บริโภคจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ เหตุลอบวางระเบิด ห้างบิ๊กซี ปัตตานี (มติชนออนไลน์, 31 พ.ค. 2560) ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจและการลงทุน

ในขณะที่รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่าง ๆ ของนักเรียนในช่วงเปิดภาคการศึกษา อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ยังกังวลต่อรายจ่ายดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสั้น ๆ

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 24.80 และ 32.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.20 และ 25.60

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพคิดเป็นร้อยละ 28.60 รองลงมา คือ ราคาสินค้า และหนี้สินครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 25.80 และ14.30 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า ตามลำดับ