มรภ.สงขลา ปั้นเยาวชนนักวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ปลูกสำนึกรักษ์ธรรมชาติ


22 มิ.ย. 2560

ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา ชวนนักเรียนมัธยมศึกษาวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ ปลูกจิตสำนึกเยาวชนหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

20170607_143155.jpg

ดร.สุวรรณี พรหมศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมวาดภาพเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่ จ.พัทลุง สงขลา และ สตูล จำนวน 30 คน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริ “การสอนการอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความสวยงาม ความน่าสนใจ และเกิดความปีติที่จะทำการอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสียเกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่ประเทศในระยะยาว” ดังนั้น ในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นหน่วยงานที่รับสนองพระราชดำริในการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พรรณพืช ศึกษา วิจัย ฟื้นฟู และหาวิธีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ผลสูงสุด อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลพืชและอนุรักษ์ทรัพยากรพืชของประเทศ และยังเป็นศูนย์เครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางด้านพืช จึงได้จัดอบรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนให้หวงแหนสิ่งแวดล้อม และเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ

ดร.สุวรรณี กล่าวว่า ผู้เข้าอบรมได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานการณ์พรรณพืชป่าในปัจจุบัน ความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ความหมาย ความสำคัญ และการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดภาพ การร่างภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ การลงแสงเงา เทคนิคการใช้สีน้ำกับการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ และ การลงสีน้ำ ซึ่งการวาดภาพทางพฤกษศาสตร์นั้น ถือเป็นการบันทึกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับใช้เป็นสื่อให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งในรายละเอียดต่างๆ ของพรรณไม้ได้ง่ายขึ้น นอก เหนือจากการอธิบายด้วยตัวอักษร ในปัจจุบันศาสตร์ทางด้านนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทย จึงควรที่จะมีการส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

“นักวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ที่ดีควรมีความรู้เรื่องโครงสร้างของสิ่งที่วาดมีข้อมูลพื้นฐานของตัวอย่างนั้นๆ และรู้จักเทคนิคที่เหมาะสมในการนำเสนอ ผู้ถ่ายทอดภาพทางวิทยาศาสตร์ควรมีความสนใจทางศิลปะและมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์พอสมควร เพื่อให้สามารถประยุกต์ข้อเท็จจริงเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างกลมกลืน เพราะภาพเพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ไม่เพียงต้องให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้มากที่สุดและถูกต้องที่สุดเท่านั้น แต่ยังมีต้องมีความสวยงามาชวนดูอีกด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ กล่าว

20170606_092255.jpg20170606_132656.jpg

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)