มรภ.สงขลา เปิดบ้านจัดเสวนาจดหมายเหตุดาราศาสตร์ตะวันตกในสยาม


14 ก.ค. 2560

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาฯ ผนึก มรภ.สงขลา จัดเสวนาจดหมายเหตุดาราศาสตร์ตะวันตกในสยาม เทียบเชิญนักวิชากาบอกเล่าเรื่องราวทรงคุณค่าครั้งอดีต เชื่อมโยงภูมิปัญญาภาคใต้  

1.jpg

นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา เปิดเผยถึงการเสวนาและบรรยายเชิงวิชาการเรื่อง “จดหมายเหตุดาราศาสตร์ตะวันตกในสยาม” ในวันที่ 18ก.ค. 60 ณ ห้องประชุมพวงชมพู อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ มรภ.สงขลา ว่า เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา ร่วมกับ มรภ.สงขลา ในการนำเสนอแนวคิดและวิวัฒนาการของวิชาดาราศาสตร์ในอดีต ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับชาติตะวันตก ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงมีดำริในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจากอดีตอันทรงคุณค่าของจดหมายเหตุดาราศาสตร์ไทยและเชื่อมโยงระหว่างดาราศาสตร์กับภูมิปัญญาทางภาคใต้ โดยผู้เข้าร่วมเสวนา อันได้แก่ นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ตลอดจนบุคคลที่สนใจและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 70 คน จะได้รับฟังบรรยายพิเศษ เรื่อง “บันทึกสุริยุปราคาแหลมเจ้าลาย พ.ศ. 2418 ค้นพบใหม่จากลอนดอน” โดย นายวิษณุ เอื้อชูเกียรติ คณะทำงานจัดตั้งหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ไทย การเสวนาจดหมายเหตุดาราศาสตร์ฯ จากนักวิชาการ อ.อารี สวัสดี อ.ภูธร ภูมะธน อ.บรรจง ทองสร้าง และ อ.วรพล ไม้สน
นายเฉลิมชนม์ กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้นอกจากจะช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับจดหมายเหตุดาราศาสตร์ ให้เยาวชนและนักดาราศาสตร์รุ่นหลังเกิดความภาคภูมิใจในอดีตและอนาคตของดาราศาสตร์ไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายในการรวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ไทย ตลอดจนประชาสัมพันธ์หอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ อันเป็นสถานที่จัดเก็บรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุ บันทึกประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ที่มีความสำคัญทางดาราศาสตร์ ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีบันทึกไว้ว่าดาราศาสตร์ยุคใหม่แบบตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดาราศาสตร์แบบตะวันตกเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์มากมายโดยเฉพาะช่วงการเกิดสุริยุปราคา เมื่อ พ.ศ. 2411 เช่น ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส เป็นต้น การบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ควรค่ายิ่งแก่การเก็บรวบรวมและรักษาไว้ เพื่อการศึกษาค้นคว้าวิจัยแก่เยาวชนรุ่นหลัง และเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนให้เห็นการพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์ของไทย ตลอดจนการขยายความสัมพันธ์ทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศ
นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง.jpg

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)