อำเภอสทิงพระ คัดกรองมะเร็งเต้านมสตรีกลุ่มเสี่ยง และด้อยโอกาส


10 ก.พ. 2559

อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมีและกระทรวงสาธารณสุข คัดกรองมะเร็ง เต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส และเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ จำนวน 22 ราย

เมื่อเช้านี้ (10 กุมภาพันธ์ 2559) นายอนุสรณ์ ตันโชติกุล นายอำเภอสทิงพระ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและผู้ด้อยโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนม์พรรษาครบ 5 รอบในปี พ.ศ.2555 ณ หอประชุมรัตนโกสินทร์ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยมี นายแพทย์นครินทร์ ฉินตระกูลประดับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสทิงพระ กล่าวรายงาน โดยชมรม อสม. อำเภอสทิงพระ , โรงพยาบาลสทิงพระ , สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสทิงพระ ร่วมสมทบเงินบริจาคแก่มูลนิธิกาญจนบารมีในครั้งนี้ด้วย

การจัดรณรงค์ตามโครงการนี้ เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม สร้างความตระหนักถึงการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่ม โดยสามารถรักษาให้หายขาดได้ ลดความรุนแรงและอัตราตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม โดยมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม และการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยมี นายแพทย์พงศธร อาสนศักดิ์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมโรงพยาบาลสงขลา มีการสาธิตการตรวจมะเร็งเต้านมโดยใช้หุ่นสาธิตโดยบุคลากรสาธารณสุข และมีขบวนรถเคลื่อนที่ประกอบด้วย รถประชาสัมพันธ์ , รถนิทรรศการ , รถสาธิตและตรวจมะเร็งเต้านม และรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) รวมจำนวน 4 คันจากมูลนิธิกาญจนบารมี

นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา ได้กล่าวย้ำว่า จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันมะเร็ง เต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและตายอันดับ 1 ของสตรีไทย ปี 2553 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 13,184 ราย เสียชีวติ 4,665 ราย ซึ่งพบว่าสตรีไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม 1 คนต่อทุก 2 ชั่วโมง และมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ช้า ซึ่งมักจะมีอาการลุกลามและแพร่กระจายไปแล้วถึงร้อยละ 56 ทั้งนี้สาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด การป้องกันที่ดีที่สุด คือการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติให้ได้เร็วที่สุดโดยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ และการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เคลื่อนที่

ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่ลุกลาม หรือแพร่กระจายจะลดความรุนแรงของการเป็นมะเร็งเต้านม และสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้นสตรีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเรียนรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ถูกต้อง และตรวจเต้านมตนเองอย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง หากพบความผิดปกติให้รีบไปสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน และรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ควรป้องกันมะเร็งด้านการดูแลสุขภาพตนเองให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น และลดอาหารไขมัน
20.jpg
ภาพ/ข่าว ฝ่ายสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา