ชาวกระดังงา สทิงพระ เปิดแหล่งเรียนรู้สัมมาชีพชุมชน เพิ่มมูลค่าตาลโตนด-ข้าวอินทรีย์


25 ส.ค. 2560

เปิดแหล่งเรียนรู้สัมมาชีพชุมชน ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้พัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มจากตาลโตนด และทำนาอินทรีย์ราคาสูงเกวียนละ 2 หมื่น

22.jpg

วันที่ 24 ส.ค. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุธรรม ไชยแก้ว นายก อบต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา พร้อมด้วย นายวิโรจน์ เอี่ยมสุวรรณ สมาชิกสภาเกษตรกร จ.สงขลา และ ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.กระดังงา รวมทั้งผู้แทนภาคเอกชน ร่วมในพิธีเปิดแหล่งเรียนรู้สัมมาชีพชุมชน ต.กระดังงา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.2 ต.กระดังงา เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับอบรม และส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับคนในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง

นายวิโรจน์ เอี่ยมสุวรรณ สมาชิกสภาเกษตรกร จ.สงขลา และ ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.กระดังงา เปิดเผยว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมแบบครบวงจร โดยตนรับหน้าที่เป็นวิทยากร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากพัฒนาชุมชน กศน. และ ธกส.

โดยที่แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ได้เปิดทำการมาแล้วระยะหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซี อี ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) ในการก่อสร้างเป็นอาคาร และจัดสรรเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น ซึ่งมีชาวบ้านและเกษตรกรทั้งในพื้นที่ ต.กระดังงา และใกล้เคียง พากันเดินทางศึกษาเรียนรู้ และจบไปแล้วหลายรุ่นด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะเน้นเป็นหลักสูตรเร่งรัดแบบวันต่อวัน ซึ่งจะมีทั้งการเพิ่มเทคนิคและประสิทธิภาพการทำการเกษตรแบบที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะนาข้าวและตาลโตนดรวมทั้งพืชผักผลไม้ต่างๆ ที่ชาวบ้านทำเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการแนะแนวทางสำหรับชาวบ้านและเกษตรกรที่ต้องการจะทำอาชีพเสริมด้วย

 ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.กระดังงา กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มอาชีพที่กำลังเป็นที่สนใจ และน่าจับตามอง คือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด ทั้ง สบู่ตาลโตนด น้ำลูกตาลสด และ วุ้นลูกตาลสด รวมทั้งการทำนาอินทรีย์สร้างมูลค่าเพิ่ม จากปกติที่ข้าวทั่วไปจะขายกันที่ราคาเกวียนละประมาณ 7-8 พันบาท แต่สำหรับข้าวอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีนั้น จะสามรถขายได้ราคาสูงถึงเกวียนละประมาณ 1-2 หมื่นบาท ซึ่งขณะนี้เริ่มทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และส่วนใหญ่จะส่งขายไปที่ อ.หาดใหญ่ และตามโรงพยาบาลต่างๆหลายแห่งใน จ.สงขลา สำหรับการทำนาอินทรีย์นั้น แม้จะมีขั้นตอน และต้องดูแลมากกว่าการทำนาแบบทั่วไป แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า และเป็นอีกรูปแบบของการทำการเกษตรที่น่าสนใจ

23.jpg24.jpg25.jpg27.jpg