สัตวแพทย์ ม.อ.จับมือกรมปศุสัตว์ ร่วมเป็นแหล่งความรู้ในการจัดการสุขภาพสัตว์เลี้ยง


28 ส.ค. 2560

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ลงนามร่วมกับกรมปศุสัตว์ พัฒนาหลักสูตรสัตวแพทย์และนำองค์ความรู้จากการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในการบริการและพัฒนาการจัดการสุขภาพและผลผลิตทางปศุสัตว์ รวมถึงสุขอนามัยอันดีของประชาชนในพื้นที่

21082090_10214251577345651_458387932_o.jpg

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2560 ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ กรมปศุสัตว์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา และ นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ เฮงแสงชัย ตำแหน่งรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้แทนร่วมในการลงนาม  สำหรับสาระสำคัญของข้อตกลง คือการจะร่วมมือกันในด้านการพัฒนาหลักสูตร การทำวิจัยและบริการวิชาการ สร้างองค์ความรู้ ในด้านการจัดการสุขภาพและการผลิตสัตว์ และเป็นแหล่งข้อมูลความรู้และบุคลากรในการชันสูตร วินิจฉัย ควบคุม และป้องกันโรคระบาดในสัตว์ โรคสัตว์สู่คน ตลอดจนความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร

รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา กล่าวว่า สาขาวิชาทางด้านสัตวแพทย์กำลังอยู่ในความสนใจของผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา เนื่องจากแนวโน้มของการเลี้ยงสัตว์ทั้งที่เป็นเชิงพาณิชย์และสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงของการเกิดอุทกภัยในภาคใต้เมื่อต้นปี 2560 คณะสัตวแพทยศาสตร์ได้มีบทบาทสำคัญในการลงพื้นที่เพื่อรักษาสัตว์ป่วยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ดังนั้นการที่ทั้งหน่วยงานที่อยู่ในภาควิชาการและกรมปศุสัตว์ได้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมและพัฒนา ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งและเป็นผลดีกับเกษตรกร ผู้บริโภคและประเทศชาติ 

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวถึงบทบาทของกรมปศุสัตว์ที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย การพัฒนาปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ให้ทันสมัยสอดรับกับเรื่องสุขภาพ และการบริหารจัดการ โดยปัจจุบันเรื่องของสุขภาพสัตว์ถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะเรื่องของโรคติดต่อ การใช้ยา การเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องพึ่งมหาวิทยาลัยในการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนางานและแก้ปัญหาด้านปศุสัตว์ของประเทศ 

“ส่วนหนึ่งของความคาดหวังจากร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับมหาวิทยาลัยในวันนี้ คือการได้ผลิตบุคลากรที่มีความสอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากความสนใจในการเข้าศึกษาส่วนใหญ่มาจากนิสัยรักสัตว์เลี้ยง และจะเน้นไปทางการรักษาสัตว์เล็กเพราะมีความมั่นคงในอาชีพ แต่อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์ยังมีความต้องการสัตวแพทย์ที่มีความพร้อมสำหรับการรักษาสัตว์ใหญ่และพร้อมที่จะเข้าทำงานในพื้นที่ชนบท” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว