ความเสียหายจากเหตุลมพัดถล่มโตนงาช้าง ต้นไม้หักโค่น 42ต้น อาคารเสียหาย 6หลัง


13 ก.ย. 2560

สรุปความเสียหายจากเหตุพัดถล่มน้ำตกโตนงาช้าง พบมีต้นไม้หักโค่น 42 ต้น ตัวอาคารเสียหาย 6 หลัง เร่งหาทางช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวที่รถได้รับความเสียหาย เผยเป็นพายุหมุนเกิดขึ้นครั้งแรก และรุนแรงที่สุดในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างเมื่อปี 2521

IMG_7570.JPG

ความคืบหน้าเหตุการณ์พายุพัดถล่มในพื้นที่น้ำตกโตนงาช้าง และภายในบริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (12 ก.ย. 60) ทำให้รถยนต์ถูกต้นไม้ล้มทับ 3 คัน และต้นไม้ล้มระเนระนาดทับอาคารเสียหายบางส่วนนั้น

ล่าสุดวันที่ 13 ก.ย. 60 นายยงยุทธ นาควิโรจน์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายอิศราพันธ์ บุญมาศ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และสรุปความเสียหายทั้งหมด ทั้งในส่วนของต้นไม้ และอาคารสถานที่

[video-0]

โดยพบว่า มีต้นไม้โค่นล้มทั้งหมด 42 ต้น รวม 25 ชนิด ทั้งไม้เนื้ออ่อน และไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ตะเคียน โดยต้นที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด คือ ต้นมะยมหอม อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งล้มทับห้องน้ำพังเสียหายไป 2 หลัง นอกจากนี้ยังมีอาคารที่เสียหายบางส่วนอีก 6 อาคาร คือ โรงอาหาร ที่ละหมาด อาคารสำนักงาน ห้องน้ำ 2 หลัง และ ป้อมยามจุดตรวจ รวมทั้งรถยนต์ของนักท่องเที่ยวอีก 3 คัน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ รวมทั้งระบบสื่อสารต่างๆ ก็ล่มทั้งหมด เนื่องจากระบบไฟฟ้าเสียหาย

นายอิศราพันธ์ บุญมาศ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่เกือบ 100 นาย เข้ามาตัดต้นไม้ และเคลียร์พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหาดใหญ่มาซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้กลับมาใช้งานโดยเร็วที่สุด เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร และจำเป็นที่จะต้องปิดน้ำตกโตนงาช้างอย่างน้อย 3 วัน หรืออาจจะมากกว่านั้น จนกว่าจะเคลียร์พื้นที่แล้วเสร็จ และสำรวจต้นไม้ที่เอนเอียง และเสี่ยงที่จะล้มลงมาอีก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่

ส่วนทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่เป็นรถยนต์ 3 คัน ที่ถูกต้นไม้ล้มทับนั้น จะให้ช่างประเมินความเสียหาย และทำเรื่องเสนอไปทางจังหวัดสงขลา ผ่านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือ เพราะ กรณีเหตุภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ไม่อยู่ในระเบียบที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้

นายอิศราพันธ์ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดเหตุเป็นลักษณะของพายุหมุนพัดถล่ม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 39 ปี นับตั้งแต่มีการก่อตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างขึ้นมาเมื่อปี 2521 เนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ทุกอย่างเป็นปกติ เพียงแต่อากาศร้อน อยู่ๆก็มีลม และฝนพัดกระหน่ำอย่างรุนแรงราว 20 นาที และมีลักษณะม้วนตัวอยู่รอบๆที่ทำการ และบริเวณน้ำตกชั้น 1 ทำให้มีทั้งต้นไม้ที่โค่นล้มทั้งต้น และขาดกึ่งกลาง ซึ่งน่ากลัว และรุนแรงมาก

IMG_7595.JPGIMG_7640.JPGIMG_7575.JPG