มรภ.สงขลา สร้าง ฝายรวมใจ ฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ปลูกสำนึกเยาวชนจิตอาสา


18 ก.ย. 2560

มรภ.สงขลา สร้าง “ฝายรวมใจ” ฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย สนองพระราชดำริในหลวง ร.9 ปลูกสำนึกเยาวชนจิตอาสา

01.jpg

โครงการ “ฝาย” รวมใจ (ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอุทกภัย) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มี 7 เครือข่าย กยศ. สถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ร่วมเปลี่ยนความแห้งแล้งทุกข์ยากของคนบ้านนาหมอบุญ เป็นความชุ่มชื้นงอกงาม คือกระจกที่สะท้อนพลังของเยาวชนจิตอาสาได้ชัดเจนอย่างยิ่ง

อ.จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษาและคุณลักษณะบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวถึงโครงการ “ฝาย” รวมใจฯ ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำรัสว่า "การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย" ดังนั้น เมื่อ มวล. จัดทำโครงการสร้างฝายฯ ขึ้น หน่วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองพัฒนานักศึกษา มรภ.สงขลา จึงได้คัดเลือกนักศึกษาผู้กู้ยืมเงิน ให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ณ บ้านนาหมอบุญ ต.อ่าวศรีเมือง อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสนองพระราชดำริที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานไว้ และเพื่อให้เยาวชนจิตอาสาได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก กยศ. มีโอกาสสร้างฝายฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ตอบแทนกลับคืนสู่สังคม และทำให้คนในชุมชนในพื้นที่เกิดความรัก ความหวงแหนพื้นแผ่นดินบ้านเกิดอีกทางหนึ่งด้วย 
อ.จิรภา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำ หรือเรียกว่า Check Dam หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง    

21270897_2034862520075353_1975372664927278296_n.jpg           

ด้าน น.ส.วศินี หอยสังข์ นักศึกษาปี 1 โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แม้การทำฝายอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวในการทำความดีเพื่อพระองค์ท่าน แต่สำหรับตนถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ กระจายแนวคิดการมีส่วนร่วมฟื้นฟูทรัพยากรน้ำและผืนดิน ซึ่งเป็นการร่วมแรงร่วมใจของนักศึกษาเครือข่าย กยศ. จากสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ มรภ.สงขลา มวล. ม.หาดใหญ่ ม.ทักษิณ (วิทยาเขตพัทลุง และ วิทยาเขตสงขลา) มรภ.ภูเก็ต และ มรภ.นครศรีธรรมราช ร่วมกับคนในชุมชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยตรัสว่า  "...ชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..." และนี่จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเข้าร่วมทำฝายในครั้งนี้ แม้สถานที่ การกินการอยู่จะไม่สะดวกสบายมากนัก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อจิตใจแม้แต่น้อย เพราะทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการทำความดีเพื่อในหลวง และเพื่อผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 

 “การมาอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนแปลกหน้าเป็นสิ่งที่ยากลำบาก แต่ค่ายนี้สามารถทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หันมาทำความรู้จัก เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ทั้งนิสัย ความคิด ประสบการณ์ และความเอื้ออาทรต่อกัน ทุกคนเป็นเพื่อนกันไม่มีแบ่งแยก แม้การทำฝายจะไม่ใช่งานที่ง่าย แต่ทุกคนก็ช่วยกันอย่างเต็มกำลัง ทั้งผู้หญิง  ผู้ชาย เด็ก คุณลุงคุณป้า ทุกคนล้วนทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ค่ายนี้ยังสอนให้เราทำงานพร้อมกัน พักพร้อมกัน  กินข้าวพร้อมกัน เข้านอนพร้อมกัน เรียกได้ว่าเรามีหัวใจที่มุ่งมั่นดวงเดียวกันนั่นเอง” น.ส.วศินี กล่าว

ขณะที่ นายจักรกฤษ เลิศลับ นักศึกษาปี 3 โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ความคิดแรกที่สมัครใจลงชื่อเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม ในการ ช่วยรักษาธรรมชาติและช่วยเหลือให้กำลังใจผู้ที่เดือดร้อน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้เกี่ยวกับการสร้างฝายในพื้นที่แห้งแล้งของประเทศไทย ให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี ขอขอบคุณ มวล. ที่จัดโครงการดีๆ ขึ้นมา ทำให้ตนได้เห็นคุณค่าการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และขอชื่นชมชาวชุมชนบ้านนาหมอบุญ ที่มีความรักสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมสร้างฝายถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านด้วยความมุ่งมั่นอย่างที่สุด จนทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี   

ปิดท้ายด้วย น.ส.พัตราภรณ์ เรืองดำ นักศึกษาปี 2 โปรแกรมวิชาการผลิตสัตว์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สุดที่กองพัฒนานักศึกษาคัดเลือกให้เดินทางไปเข้าร่วมโครงการสร้างฝายฯ ทำให้นึกถึงในหลวง ร.9 ตอนที่พระองค์ท่านยังไม่สิ้นพระชนม์ และมีพระพลานามัยแข็งแรงอยู่นั้น ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำฝายชะลอน้ำไว้มากมาย เพื่อช่วยชาวบ้านให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งตั้งแต่จำความได้พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนในประเทศอย่างมากมายมหาศาล เคยคิดไว้ว่าหากมีโอกาสทำสิ่งทดแทนพระองค์ท่านได้บ้าง ถึงจะเล็กน้อยก็ไม่เกี่ยง ดังนั้น เมื่อได้รับโอกาสจากกองพัฒนานักศึกษา จึงรีบคว้าไว้ทันที ซึ่งการไปค่ายครั้งนี้ทำให้ตนได้พบเพื่อนใหม่ต่างมหาวิทยาลัย ได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดกัน ระหว่างทำฝายมีชาวบ้านมาร่วมด้วย แถมยังซื้อน้ำ ขนม มาให้ สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง 

สิ่งสำคัญที่ได้จากการสร้างฝาย คือประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากห้องเรียน แม้จะมาจากต่างที่ ต่างสถาบัน แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการได้เป็นจิตอาสาที่สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคม

21231579_2034862380075367_2701636602156819145_n.jpg21231800_2034863153408623_2320879585529603993_n.jpg21271119_2034862490075356_597182089394350752_n.jpg21272263_1933540913567552_8738218994475478757_n.jpg21317550_2034862563408682_3909900524084150885_n.jpg21314499_1555420614514793_6229883999527154422_n.jpg21369432_1555420684514786_6161352839455406734_n.jpg

ข่าวโดย/ สุภาพร ขุนทอง (เจ้าหน้าที่กองพัฒนานักศึกษา) มรภ.สงขลา