ชมรมชาวเหนือ จ.สงขลา จัดงานบุญประเพณีตานก๋วยสลาก


19 ก.ย. 2560

ชมรมชาวเหนือ จ.สงขลา จัดงานบุญประเพณีตานก๋วยสลาก โดยจัดขบวนแห่ตามประเพณีของชาวล้านนาไปในย่านการท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ ก่อนที่จะไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นอย่างมาก

11.jpg

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย. 60 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ชมรมชาวเหนือ จ.สงขลา จัดงานบุญประเพณีตานก๋วยสลากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวล้านนาจะแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษ ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ก๋วยสลาก คล้ายๆ กับงานบุญประเพณีเดือนสิบของชาวใต้ เพื่อให้ชาวเหนือที่พำนักอยู่ใน จ.สงขลา และไม่มีโอกาสได้กลับไปร่วมประเพณีที่บ้านเกิดได้ร่วมกันสืบสวนงานบุญประเพณีที่สำคัญของชาวเหนือร่วมกัน

โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยสีสันและกลิ่นไอตามประเพณีของชาวล้านนาทุกอย่าง ทั้งขบวนกลองยาว ขบวนฟ้อนรำ ขบวนรำอวยพรที่แต่งกายด้วยชุดล้านนา ขบวนสาวน้อยกลางจ้อง ขบวนแห่ตุง รวมทั้งการโชว์พ่นไฟเพื่อให้ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น

ซึ่งผู้เข้าพิธีล้วนเป็นชาวเหนือที่มาทำงาน และอาศัยอยู่ใน จ.สงขลาทั้งหมด เริ่มขบวนแห่จากถนนเสน่หานุสรณ์ ย่านการค้าการท่องเที่ยวใจกลางเมืองหาดใหญ่ ไปสิ้นสุดที่พักสงฆ์เลียบนิกาย ใน ต.ทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อร่วมทำบุญถวายภัตตาหารเพล และรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งบรรยากาศของขบวนแห่ตานกวยสลาก ได้รับความสนใจจากผู้คนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์เป็นอย่างมากและพากันออกมาถ่ายรูปเก็บภาพความประทับใจ เนื่องจากเป็นงานบุญประเพณีของชาวล้านนาที่หาชมได้ยากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

สำหรับคำว่า ตานก๋วยสลาก เป็นภาษาของชาวล้านนา หากเป็นภาษาภาคกลางจะตรงกับคำว่า สลากภัต ประเพณีตานก๋วยสลากทางภาคเหนือนิยมจัดกันในช่วงเดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี

สำหรับ ก๋วยสลาก สานจากไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอก (ชะลอม) ข้างในกรุด้านข้างด้วยใบตอง สำหรับบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง ผลหมากรากไม้ ของใช้จำเป็น ดอกไม้ธูปเทียน โดยชาวบ้านจะนำก๋วยสลากของแต่ละคนไปรวมกันที่วัดเพื่อทำพิธีทางศาสนา จากนั้นก็จะมีการสุ่มแจกสลากให้แก่พระแต่ละรูปโดยที่ไม่มีใครทราบว่าในตานก๋วยสลากนั้นมีอะไรอยู่ข้างในบ้าง พระรูปใดจับได้ตานก๋วยสลากของใครก็จะเรียกชื่อเจ้าของตานก๋วยสลากนั้นออกมารับศีลรับพร และกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ส่วนสิ่งของในตานก๋วยสลากหากมีเหลือมากพระภิกษุก็จะนำไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ยากไร้อีกต่อหนึ่ง

10.jpg12.jpg7.jpg3.jpg