สะพานไม้ "บ้านเจาะบากง"


17 ต.ค. 2560

สะพานไม้ "บ้านเจาะบากง"

86.jpg

ผมเชื่อว่าหลายคนคง"คุ้นเคย"ภาพนี้ และก็เชื่อว่าเกือบทุกคน..รวมทั้่งผม ไม่(เคย)รู้ว่าสะพานนี้อยู่ที่ไหน สะพานไม้นี้อยู่ที่ หมู่ 3 บ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

ภาพนี้ เป็นภาพเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ หมู่ 3 บ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ขณะนั้นยังไม่ได้อยู่ในแผนที่ประเทศไทย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินไปถึง

และสอบถามชายคนนั้น ..ชายผู้นุ่งกางเกงขาสั้นเข้ามากราบบังคมทูล ชายคนนั้นชื่อ"พร้อม จินนาบุตร" ชายชาวนราธิวาสวัย 47 ปี 

"ลุงพร้อม" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ได้เล่าไว้พอสรุปได้ว่า ขณะที่ชาวบ้าน บ้านเจาะบากง ซึ่งมีพี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันมากว่า 140 ปี กำลังทำนาข้าวอยู่ในที่ดินของตน ก็ได้ยินเสียงรถยนต์ของตำรวจทางหลวงนำขบวนเสด็จฯผ่านเข้ามา โดยไม่ได้มีการแจ้งหมายกำหนดการให้ประชาชนทราบล่วงหน้า จึงวิ่งออกมาเฝ้ารับเสด็จฯในชุดทำนาทำสวนนั่นแหละ..

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเห็นตน จึงทรงรับสั่งให้รถยนต์พระที่นั่งหยุดแล้วตรัสถามว่า "ที่นี่ที่ไหน" 
ลุงพร้อมตอบว่า "หมู่บ้านเจาะบากง" 

พระองค์ตรัสว่า "หมู่บ้านดังกล่าวไม่มีในแผนที่ มีแต่บ้านโคกกูโนและบ้านโคกกูยิ" ซึ่งหมู่บ้านทั้งสองแห่งนั้น เป็นหมู่บ้านที่มีเขตติดต่อกับบ้านเจาะบากง"

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้ตรัสถามถึงสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ ลุงพร้อมจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้มีการขุดคลองเชื่อมต่อคลองเจาะบากง เพื่อให้ครัวเรือนในพื้นที่ได้ใช้แหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร 

85.jpg

เพื่อทรงทราบรายละเอียด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงเสด็จฯลงจากรถยนต์พระที่นั่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่สะพานไม้และประทับกับลุงพร้อม เพื่อทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณดังกล่าว 

ภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะประทับ อยู่บนสะพานกับลุงพร้อม จึงมีให้ทุกคนเห็นกระทั่งทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม สะพานนี้ไม่ได้ใช้มานานจนผุพัง

กระทั่งในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา ส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และพลังมวลชนในพื้นที่ ได้จัดโครงการ "ย้อนรอยพระราชกรณียกิจ ครั้งหนึ่ง...ณ สะพานบ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก" ขึ้นมาเพื่อรื้อฟื้นภาพความทรงจำครั้งประวัติศาสตร์ในอดีตให้หวนกลับคืนมา 

โดยก่อสร้างสะพานไม้ที่มีลักษณะเดียวกันบนสถานที่เดิม ซึ่งถูกรื้อถอนออกไปเพราะเก่าและทรุดโทรม โดยรวบรวมเงินจากทุกภาคส่วนที่มีจิตศรัทธาโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐแต่อย่างใด

สะพานนี้จึงมีอยู่..กระทั่งทุกวันนี้

84.jpg

ที่มา เฟสบุ๊ค Chai Seeho