โพลเผยเมื่อพูดถึง ม.อ. สิ่งที่ชาวใต้นึกถึงอันดับแรก คือ โรงพยาบาล และ พระบิดา


18 ต.ค. 2560

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะครบ 50 ปี แห่งการสถาปนา ในเดือนมีนาคม 2561  ม.อ.โพล ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จากทุกเพศ อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ จำนวน 1,335 ตัวอย่าง ในหัวข้อ “50 ปี ม.อ. กับความ คิดเห็นของพี่น้องชาวใต้” ระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 30 ตุลาคม 2560 โดยสอบถามถึงความจุดเด่น คาดหวัง การรับรู้ และ สิ่งที่นึกถึงสิ่งแรกเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในประเด็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยนั้น พบว่าสอดคล้องกับภารกิจ ทั้ง 4 ด้านของมหาวิทยาลัย โดยประชาชนภาคใต้ มองว่าตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีความเด่นด้านการเรียนการสอน การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพรับใช้สังคมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.10  รองลงมาคือ ด้านการศึกษาค้นคว้า งานวิจัย และพัฒนานวัตกรรม คิดเป็นร้อยละ 34.70  ตามด้วยด้านบริการวิชาการแก่สังคม ถ่ายทอดวิชาการและวิชาชีพ และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

อย่างไรก็ตาม ชาวภาคใต้ก็ยังมีความคาดหวัง ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นและลูกหลานได้มีการพัฒนายิ่งขึ้น โดยที่คาดหวังมากที่สุด คือการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศ รองลงมา คือ การจัดการเรียนการสอนให้ทัดเทียมนานาชาติ การสนับสนุนทุนการศึกษาค้นคว้าวิจัย  การส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าช่วยเหลือชุมชน การแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ การส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำผลงานวิจัยไปใช้พัฒนาชุมชน การเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชุมชน การจัดฝึกอบรมทางวิชาการและวิชาชีพ และการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย

มีประเด็นที่น่าสนใจ คือสิ่งที่คนภาคใต้ “นึกถึง” เป็นอันดับแรกเมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ นึกถึงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และการรักษาพยาบาล อันดับต่อมาคือ สมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์  แพทย์และพยาบาล โดยพบว่า งานเกษตรภาคใต้ ซึ่งเป็นงานประจำปีจัดโดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ ถูกนึกถึงเป็นอันดับที่ 4 และในอันดับ 5 เมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะวิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ตอบแบบสอบถามจะนึกถึงพื้นที่จอดรถซึ่งมีอยู่จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนรถยนต์ของบุคลากรและผู้มาติดต่องานหรือใช้บริการของมหาวิทยาลัย  

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจได้มีการรับรู้ข่าวสารของ มหาวิทยาลัยผ่านช่องทาง สื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 49.40 รองลงมาคือ สื่อบุคคล เช่น ผู้นำชุมชน เพื่อนบ้าน ผู้ปกครอง บุคคลในครอบครัว บุคลากรมหาวิทยาลัย และ สื่อเฉพาะกิจ เช่น วารสาร ป้ายประชาสัมพันธ์ แผ่นปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ เป็นต้น

Pic_poll_9.jpg