มท.1 สั่งปภ.ประสานทุกจังหวัดภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก 1-3 พ.ย.


1 พ.ย. 2560

มท.1 สั่งการ ปภ.ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก – ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง
    38.jpg
มท.1 สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ควบคู่กับการดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ มุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงจัดเตรียมถุงยังชีพ สำหรับแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เปิดเผยว่า จากการติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง จะเคลื่อนตัวผ่านปลายแหลมญวนไปทางอ่าวไทย ส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน 2560อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและคลื่นลมแรง 

รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน โดยเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยเชิงรุก มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 

โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อประสานให้หน่วยปฏิบัติเตรียมพร้อมรับมือ และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพหนีภัยได้ทันท่วงที รวมถึงเตรียมพร้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ โดยจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยยึดการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ ทั้งพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤต 

รวมถึงแบ่งมอบภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบในการประสานการปฏิบัติระดับพื้นที่อย่างชัดเจนอีกทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ภัย โดยใช้ช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบในพื้นที่ เพื่อชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังลงสู่ลุ่มน้ำสายหลักและทะเล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพการจัดการปัญหาอุทกภัยของภาครัฐ

นายชยพล ธิติศักด์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสาน 14 จังหวัดภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลมุทุกพื้นที่ โดยดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก กรณีสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิงหรือจุดอพยพที่ปลอดภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง และขนย้ายสิ่งของ ตลอดจนแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบแก่ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศ พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์