ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนตุลาคม 2560


2 พ.ย. 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนตุลาคม 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคมในเดือนตุลาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการวัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงของความสุขโดยรวมของประชาชนในภาคใต้  เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 53.20 เพศชาย ร้อยละ 46.80 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 34.70  และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 31.10

001.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง  ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านภาวการณ์ทางสังคม เดือนตุลาคม 2560 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ด้านภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน

ดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาวการณ์ทางสังคม ในเดือนตุลาคมเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พบว่า  ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความมั่นคงในอาชีพ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจาก ความกังวลจากรายได้ที่ลดลงในภาคเกษตร ซึ่งราคายางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้นลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนตุลาคม (การยางแห่งประเทศไทย) ประกอบกับเดือนตุลาคมเป็นช่วงของการกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสถียรภาพทางการเมืองมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ภาครัฐสามารถจับกุมและดำเนินคดียาเสพติดได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับทางภาครัฐได้มีนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้คนจน จึงส่งผลให้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.60 และ 24.10 ตามลำดับ นอกจากนี้การแก้ปัญหายาเสพติด และเสถียรภาพทางการเมืองดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.50 และ 38.20 และปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 36.20 รองลงมา คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 22.50

                  

ข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่