หาดใหญ่โพล ชี้ผู้ประกันตนประกันสังคมหวังได้สินเชื่อ-ใช้บริการรพ.เอกชน


20 พ.ย. 2560

ม.หาดใหญ่ สรุปผลหาดใหญ่โพล เรื่อง  “มุมมองของประชาชนที่มีต่อการให้บริการและนโยบายของสำนักงานประกันสังคม” ผู้ใช้บริการชี้อยากให้มีสินเชื่อซื้อบ้านและเพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่มากขึ้น ครอบคลุม รพ.เอกชน-คลินิคนอกเวลา

82.jpg

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมุมมองของประชาชนที่มีต่อการให้บริการและนโยบายของสำนักงานประกันสังคม  กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นผู้ประกันตนระบบประกันสังคมในจังหวัดสงขลา  จำนวน 400 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 10-17 พฤศจิกายน 2560  ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้

รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล  พบว่า  ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ เคยใช้บริการของสำนักงานประกันสังคม (ร้อยละ 80.00)ส่วนใหญ่ใช้สิทธิ์ด้านสวัสดิการรักษาอาการเจ็บป่วย มากที่สุด (ร้อยละ 53.75) รองลงมา ด้านสวัสดิการในการคลอดบุตร (ร้อยละ 30.00) และสวัสดิการเกี่ยวกับทันตกรรม (ร้อยละ 18.75) ตามลำดับ

ผู้ประกันตนมีความพึงพอใจต่อภาพรวมการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมในระดับ ปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.23 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 3 คะแนน) เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ทุกประเด็นอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นประเด็นเกี่ยวกับการรักษาและดูแลสุขภาพของโรงพยาบาลเครือข่าย มีความพึงพอใจในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.42 คะแนน) รองลงมา เป็นประเด็นสวัสดิการต่างๆที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม  การให้บริการของเจ้าหน้าที่ และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน  มีความพึงพอใจในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย  2.24  2.17 และ 2.10 ตามลำดับ  

นอกจากนี้ผู้ประกันตน ร้อยละ 52.09  เห็นว่าการให้บริการและสวัสดิการที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม และร้อยละ 47.91 เห็นว่าไม่คุ้มค่าในการจ่ายเงินสมทบ โดยให้เหตุผลว่า การให้บริการของสำนักงานประกันสังคมไม่เป็นที่น่าประทับใจ มากที่สุด (ร้อยละ 30.90) รองลงมา  เป็นการให้สวัสดิการไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน (ร้อยละ 26.40) และสำนักงานประกันสังคมมีการสื่อสารในรายละเอียดกับการให้บริการและสวัสดิการไม่ชัดเจนส่งผลต่อการให้บริการและสวัสดิการ (ร้อยละ 14.61) 

ผู้ประกันตนร้อยละ 51.69  เห็นว่าการที่กลุ่มของตนเป็นกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียวที่เสียเงินดูแลสุขภาพ จึงไม่เป็นธรรมของสังคมกับกลุ่มของตน

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายฐานเงินเดือนจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท พบว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.22 ไม่เห็นด้วยกับขยายฐานเงินเดือนจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท เพราะทำให้ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น และเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี มากที่สุด (ร้อยละ 39.53)

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบหากมีการขยายฐานเงินเดือน พบว่า ผู้ประกันตนเห็นว่าการขยายฐานเงินเดือนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในครอบครัวในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.41 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) ทั้งนี้ผู้ประกันตนต้องการจ่ายเงินสมทบในรูปแบบอัตรา 5% ของเงินเดือนมากที่สุด (ร้อยละ 38.75) 

ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดในการขยายการจ่ายเงินเบี้ยชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี พบว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.25 เห็นด้วยกับสำนักงานประกันสังคม ในการขยายการจ่ายเงินเบี้ยชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี  

นอกจากนี้ผู้ประกันตนร้อยละ 40.53 ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม เพิ่มสวัสดิการการกู้บ้าน มากที่สุด รองลงมา คือ เพิ่มสิทธิในการเลือกใช้โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน (ร้อยละ32.63) และมีคลีนิคประกันสังคมเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 14.74)