บทความการเงินน่ารู้ ตอน ชำระเงิน e-Payment อย่างไร ให้ปลอดภัย


23 พ.ย. 2560

ชำระเงิน e-Payment อย่างไร ให้ปลอดภัย

e-Payment หรือที่เรียกกันว่า ธุรกรรมชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) และผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) ทดแทนการใช้เงินสดแบบเดิมด้วยข้อดีไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดความเสี่ยงข้อผิดพลาดต่างๆจากการบริหารจัดการเงินสด

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่งนำมาสู่ e-Payment มาพร้อมกับการพัฒนาภัยทางการเงิน กลโกง และมิจฉาชีพต่างๆ เช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้บริการจึงควรใช้งาน e-Payment ด้วยความระมัดระวัง รู้เท่าทัน และมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจาการใช้งาน

01.jpg

วันนี้ จึงมีคำแนะนำในการใช้งาน e-Payment สำหรับการชำระเงินผ่านผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) และผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) ให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ มาฝากคุณผู้อ่านกัน

 

ก่อนการเข้าใช้งาน

(1) ไม่ควรตั้ง PIN หรือ Password ที่คาดเดาง่าย และควรเปลี่ยน Password เป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ

(2) ดาวน์โหลดโปรแกรม หรือข้อมูลจากเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลจากกลุ่มมิจฉาชีพ และไม่ควรดัดแปลงระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ใช้งาน เพราะอาจลดประสิทธิภาพของระบบป้องกันความปลอดภัยได้

(3) สมัครรับแจ้งการเคลื่อนไหวบัญชีผ่าน SMS หรือ อีเมล เพื่อให้รับรู้การเคลื่อนไหวทางบัญชีทุกขณะ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว อาทิ ชื่อ ที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ ควรแจ้งข้อมูลให้ธนาคาร เพื่อที่เจ้าหน้าที่ธนาคารจะได้สามารถติดต่อผู้ใช้บริการได้อย่างทันท่วงที กรณีที่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกี่ยวกับบัญชีของผู้ใช้บริการ

(4) ติดตั้งและปรับปรุงโปรแกรม Scan Virus และ Personal Firewall  ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

(5) จำกัดวงเงินการทำธุรกรรมผ่านธนาคารออนไลน์ ในทุกบัญชีเพื่อเป็นการลดความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกมิจฉาชีพขโมย Password หรือเจาะเข้าระบบธนาคารออนไลน์

ขณะใช้งาน

(6) สังเกตเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยบนหน้า Website การทำธุรกรรมชำระเงินทางอินเทอร์เน็ต ร้านค้าออนไลน์ที่เชื่อถือได้จะต้องมีใบรับรองดิจิตอล (Digital Certificate) และมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยของการส่งผ่านข้อมูลแบบ SSL (Secure Socket Layer) รับรองความปลอดภัยในการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกัน

(7) ไม่ใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะทำธุรกรรมชำระเงินทางอินเทอร์เน็ต หรือเชื่อมต่อกับ Free Wi-Fi ที่ไม่รู้จัก เนื่องจากอาจเป็น Wi-Fi ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา เพื่อดักจับข้อมูลสำคัญ เช่น User ID และ Password

(8) ลงทะเบียนยืนยันตัวตนผู้ถือบัตรเครดิต ผ่านเว็บไซต์ของธนาคารผู้ออกบัตร (Verified by Visa (VBV), Master Card Secure Code (MCSC) และ JCB J/Secure) เพื่อให้การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิตมีระบบรักษาความปลอดภัยที่สูงขึ้น

(9) ไม่คลิก Link ที่แนบมาพร้อมกับอีเมล ควรพิมพ์ Address ของ Website เหล่านั้นด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การแจ้งข่าว การประชาสัมพันธ์ หรือการชำระเงิน และไม่ควรติดตั้งหรือ Run ไฟล์/โปรแกรมที่แนบมากับอีเมล์ที่ไม่รู้จัก

(10) คลิก "ออกจากระบบ" (Log off, Log out, Sign off)  ทุกครั้งที่ทำรายการชำระเงินเสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นสามารถทำรายการจากบัญชีของท่านได้

(11) ทุกครั้งที่ทำการชำระเงินผ่านหน้า Website ช่อง address ที่ใส่ที่อยู่เว็บไซต์ (URL) ต้องขึ้นต้นด้วย https:// (แทนที่จะเป็นเพียง http://) และต้องมีเครื่องหมายรูปกุญแจ  ซึ่งจะแปลได้ว่าข้อมูลที่บันทึกนี้จะผ่านการเข้ารหัส และมีความปลอดภัย

ภายหลังจากการใช้งาน

(12) ตรวจสอบความถูกต้องของรายการธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ เช่น จำนวนเงิน วันที่ทำรายการ เลขที่บัญชี และตรวจสอบยอดเงินในบัญชี เพื่อป้องกันรายการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ใช้บริการควรหมั่นศึกษารูปแบบธุรกรรมและวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ผู้ให้บริการเสนอก่อนตัดสินใจใช้บริการ ศึกษากลโกงด้วยวิธีการต่างๆ และติดตามข่าวสารเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันและป้องกันภัยทางการเงินต่างๆ และเพื่อให้เป็นผู้ใช้บริการทางการเงินที่ทันต่อยุคดิจิทัลอย่างเหมาะสม

ผู้จัดทำ : นางสาวญาณิศรา ศตะรัต

1213.jpg