เครือข่ายนักวิชาการใต้ ส่งจดหมายเปิดผนึกขอให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


25 พ.ย. 2560

เครือข่ายนักวิชาการใต้ ส่งจดหมายเปิดผนึกขอให้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

01.jpg

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง"หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สร้างการพัฒนาที่เป็นสุขอย่างยั่งยืน คืนประชาธิปไตย เร่งแก้ไขปัญหาประชาชน" เนื่องในโอกาสประชุมครม.สัญจรภาคใต้ ในวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2560

ข้อความในจดหมายเปิดผนึก

จดหมายเปิดผนึก

 24 พฤศจิกายน 2560

เรื่อง ขอให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา สร้างการพัฒนาที่เป็นสุขอย่างยั่งยืน คืนประชาธิปไตย เร่งแก้ไขปัญหาประชาชน

เรียน นายกรัฐมนตรี

               

                ตามที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรี และติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายและการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดปัตตานีและสงขลา นั้น

                เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ นักวิจัยในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของภาคใต้ ได้ติดตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานของรัฐบาลมาโดยตลอด มีความเห็นว่านโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางภาคอุตสาหกรรม โครงข่ายคมนาคมและพลังงาน รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ ตามแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 และประชารัฐ อาจส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของกลุ่มคนต่าง ๆ ในภาคใต้ในระยาว ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในประจำวันก็ไม่ได้การตอบสนองจากรัฐบาลแต่อย่างใด

                ดังนั้นเพื่อให้การกำหนดนโยบาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ ของรัฐบาลสอดคล้องกับกระบวนทัศน์การพัฒนาที่เป็นมาตรฐานจริยธรรมสากล ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals : SDGs) ที่ประเทศไทย โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ไปพร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ด้วยกระบวนการและวิธีการทางเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอเสนอแนะ ดังนี้

เร่งรัดการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกร อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคายางพารา และราคาปาล์มน้ำมัน  ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระยะสั้นและระยาว แสดงให้เห็นถึงการ “ไม่รู้สึกใส่ใจใยดีต่อชีวิตและปากท้องของเกษตรกร” ทั้งที่มีความพยายามในการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของเครือข่ายเกษตรกร กลับถูกปิดกั้นจากหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด  จึงขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรคือวาระสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือ การระดมองค์ความรู้ และนับความรู้ของเกษตรกรเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหา

ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ขอให้ “หยุดการดำเนินโยบายและโครงการ ในภาคใต้” ที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน ที่มีรายงานวิจัยยืนยันถึงผลกระทบและส่งผลเชื่อมโยงต่อการทำลายศักยภาพของภาคใต้อย่างชัดเจนแล้ว โครงการเวนคืนผืนป่าพร้อมทั้งกำหนดมาตรการความยั่งยืนให้เกษตรกรได้มีที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต รวมทั้งปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน

ให้รัฐบาล “ทบทวนนโยบาย ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ” โดยจัดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบูรณาการมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี การเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสม รวมถึงความเชื่อมโยงกับโครงการอื่น ไม่ว่า โครงการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 โครงการประชารัฐ และโครงการที่เกิดขึ้นจากการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย และ /หรือการใช้กฎหมายพิเศษ ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ด้วยหลักการ กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมโดยในชั้นต้นควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดที่จะช่วยให้มองเห็น “ภาพรวมการพัฒนา” แก่สาธารณะชนอย่างตรงไปตรงมา

4.  ส่งเสริมและสนับสนุนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อให้บรรลุ“ภาคใต้แห่งความสุข อย่างยั่งยืน” ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในชีวิต แหล่งผลิตอาหาร การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น การสร้างนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและการประกอบการฐานราก อันเป็นศักยภาพ ทุน ภูมิทัศน์วัฒนธรรมและการพัฒนาของภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ควรสร้าง/ เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาสังคมในการเข้ามากำหนดอนาคตภาคใต้อย่างทั่วถึง กว้างขวางและครอบคลุม โดยเริ่มต้นจากการวางแผนร่วมอย่างเป็นระบบ ลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม บนพื้นฐานของ “ความหลากหลายทางคุณค่าของพื้นที่”(Area-based Value Diversity)

5. ข้อเสนอในข้างต้นสัมพันธ์และโยงใยอย่างยิ่งยวดกับ “ระบบการเมืองแบบเปิดที่เป็นประชาธิปไตย” ดังนั้นรัฐบาลและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ต้อง “คืนประชาธิปไตย ด้วยการเคารพอย่างมั่นคง จริงใจในโรดแมบ (Road Map) การเลือกตั้ง ไม่ริดรอน สิทธิ เสรีภาพ  และการใช้อำนาจที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว”

ขอแสดงความนับถือ

 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้

24 พฤศจิกายน 2560