สธ.สงขลา ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง และเตือนป้องกันโรคหลังน้ำท่วม


6 ธ.ค. 2560

สธ.สงขลา ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง และเตือนป้องกันโรคหลังน้ำท่วม

PNEWS17120611264500701.JPG

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมใน จ.สงขลา เริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ อำเภอระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร ซึ่งมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ราบลุ่มทะเลสาบ และท่วมขังบ้านเรือนประชาชนริมทะเลสาบ ส่วนในภาพรวมทั้งจังหวัด พบว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบ 124 ตำบล , 920 หมู่บ้าน , 79 ชุมชน ,75,135 ครัวเรือน , 207,576 คน (ณ วันที่ 5 ธ.ค.2560)

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ( EOC : Emergency Operation Center ) อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ และการช่วยเหลือสนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขของหน่วยงานและสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดฯ รวมทั้งการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ และการมอบยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยทีมเครือข่ายสุขภาพของแต่ละพื้นที่ และนอกจากนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้บริหารสาธารณสุข และคณะฯ ได้ลงเยี่ยมประชาชนและสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้ลงเยี่ยมประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ อ.เทพา และ อ.จะนะ (เมื่อ 3 ธ.ค. 2560) อ.ระโนด และกระแสสินธุ์ (เมื่อ 5 ธ.ค.2560 ) พร้อมทั้งมีแผนการออกเยี่ยมต่อเนื่องต่อไป

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.- 5 ธ.ค.2560 จ.สงขลา ดังนี้

1) ได้จัดหน่วยแพทย์ และ หน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ จำนวน 48 หน่วย มีผู้เข้ารับบริการด้านรักษาพยาบาลทั้งสิ้น 7,628 ราย โดยจากการออกหน่วยเคลื่อนที่ฯ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้า 371 ราย ,โรคผิวหนัง 349 ราย ,โรคหวัด 222 ราย ,ปวดศีรษะ 25 ราย , ระบบย่อยอาหาร 19 ราย , โรคระบบประสาท 14 ราย , รักษาผู้ป่วยเรื้อรัง 51 ราย , ตรวจสุขภาพทั่วไป 151 ราย นอกจากนี้ มีการออกเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง และเยี่ยมผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์ 1,063 ราย และเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ผู้ป่วยฟอกไต ผู้ป่วยขขาดยา เป็นต้น รวม 1,434 ราย ทั้งนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำแล้วทั้งสิ้น 7 ราย

2)มอบยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 25,243 กล่อง

3)ให้การช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจผู้ประสบอุทกภัย 9,370 ราย

PNEWS17120611264500704.JPG

นายแพทย์ อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล กล่าวย้ำว่า ถึงแม้นว่าจะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงสถานบริการสาธารณสุขบางแห่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น แต่ขอยืนยันว่าสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งของจังหวัดสงขลา เปิดให้บริการประชาชนตามปกติ และหากมีประชาชนที่มีการเจ็บป่วยเกินกว่าศักยภาพของสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ จะได้รับการส่งต่อไปยังสถานบริการสาธารณสุขระดับที่ศักยภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์และระโนด จะได้รับการสนับสนุนรถยีเอ็มซีในการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งสามารถรับส่งผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วมสูงได้ และหากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินในระยะนี้ สามารถใช้บริการโทรสายด่วนนเรนทรสงขลา โทร.1669 เพื่อขอรับการช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงหลังน้ำท่วมขังนานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ประชาชนจะมีความเสี่ยงต่อโรคติดต่อที่เกิดจากน้ำท่วมมากขึ้น ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคไข้ฉี่หนู โรคท้องร่วง เป็นต้น จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันโรคหลังน้ำท่วม ดังนี้ โรคน้ำกัดเท้า หลังจากย่ำน้ำแล้วควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะตามง่ามเท้า ถ้าเป็นไปได้ ควรสวมรองเท้าบู๊ท หากมีอาการเท้าเปื่อย ควรทาด้วยขี้ผึ้งรักษาน้ำกัดเท้า หากอาการ ไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โรคไข้ฉี่หนู เชื้อโรคไข้ฉี่หนู ส่วนใหญ่มาจากปัสสาวะของหนูและสัตว์เลี้ยงต่างๆและปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก เมื่อคนลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือจากการกินอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนฉี่หนู โดยจะมีอาการหลังจากรับเชื้อโรคไข้ฉี่หนูประมาณ 4 – 10 วัน ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและท้อง ตาแดง คอแข็ง ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการ ดีซ่าน ตัวเหลือง และอาจบวมบริเวณหลังเท้าและหนังตา ดังนั้น การป้องกันโดย เมื่อจะย่ำน้ำ ย่ำโคลน ควรสวมรองเท้าบู๊ท ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งเมื่อถูกน้ำสกปรก หรือหลังจากเดินย่ำน้ำย่ำโคลน ทั้งนี้ หากมีอาการของโรคนี้ควรรีบไปพบแพทย์ และกำจัดหนูที่เป็นพาหะนำโรค

นอกจากนี้ในช่วงน้ำท่วมอาจเกิดโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ซึ่งเกิดจากการกินอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจจะมาจากน้ำที่ท่วมขัง หรือภาชนะไม่สะอาด รวมทั้งอาหารที่บูดเสีย อาหารค้างมื้อที่ไม่ได้อุ่น ดังนั้น ควรป้องกันโดยการควรกินอาหารที่สุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่ายทุกครั้ง ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ ขยะหรือของเสียที่เปียกแฉะควรใส่ถุงพลาสติกผูกให้แน่น แล้วทิ้งในถังรองรับ ระวังอย่าให้น้ำที่ท่วมขังเข้าปาก และไม่ควรนำน้ำจากแหล่งน้ำที่ท่วมขังมาล้างภาชนะ ถ้วยชาม หรือผักผลไม้ ควรดื่มน้ำต้มสุก น้ำฝน หรือน้ำที่ใส่คลอรีน หากมีอาการอุจจาระร่วง ควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) จนอาการเป็นปกติ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ควรปรึกษาแพทย์

สำหรับการออกปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของจังหวัดสงขลาในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยเครือข่ายสุขภาพอำเภอต่างๆ ในพื้นที่ มีแผนการออกหน่วยเคลื่อนที่ฯ ดังนี้

อ.สทิงพระ มีแผนการออกหน่วยเคลื่อนที่ฯ ดังนี้

-วันที่ 6 ธ.ค.2560 ภาคเช้า ณ วัดดอนคันออก ม.7 ต. คูขุด ภาคบ่าย ณ ศาลาบางด้วน ม.1 ต.คูขุด

- วันที่ 7 ธ.ค.2560 ภาคเช้า ณ ศาลาประจำหมู่บ้าน ม.2 ต.ท่าหิน ภาคบ่าย ณ วัดโพธ์กลาง ม. 8 ต.ท่าหิน

-วันที่ 8 ธ.ค.2560 ภาคเช้า ณ ศาลาหมู่ที่ 5 ต.ชุมพล (ข้างลิฟท์วัดพะโคะ) และภาคบ่าย หมู่ที่ 4 ต.คูขุด(หน้า อบต.คูขุด)

อ.สิงหนคร มีแผนการออกหน่วยเคลื่อนที่ฯ ดังนี้

-วันที่ 6 ธ.ค.2560 เวลา 09.00-12.00 น.ณ วัดห้วยพุด ต.รำแดง และ เวลา 13.00-15.00 น. ณ วัดป่าขวาง ต.รำแดง

- วันที่ 7 ธ.ค.2560 เวลา 09.00-12.00 น. ณ วัดระฆัง ต.บางเขียด และ เวลา13.00 -15.00 น. ณ วัดทำนบ ต.ทำนบ

PNEWS17120611264500703.JPGPNEWS17120611264500707.JPG

ข่าวโดย ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา