ปลัด ก.วิทย์ ติดตามความก้าวหน้าหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา


9 ธ.ค. 2560

ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ด้าน “ผอ.เฉลิมชนม์” เชื่อหากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์และอวกาศมาตรฐานสากลแห่งแรกของภาคใต้

DSC_1930_resize.JPG

เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ในโอกาสเดินทางมาประชุมเชิงปฏิบัติการ “การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาพื้นที่ภาคใต้” โดยมี ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งเป็นสักขีพยานพิธีรับมอบงบประมาณสนับสนุนจากบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สำหรับนำไปใช้ในการจุดประกายเยาวชนให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้

นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า ในนามผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขอขอบคุณทุกท่านที่เดินทางมาในครั้งนี้ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาเรียนรู้ วิจัย ให้กับ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา รวมทั้งในอนาคตเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งชุดนิทรรศการภายนอก ภายใน มีถนนทางขึ้นที่มั่นคงถาวรปลอดภัย ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์และอวกาศมาตรฐานสากลแห่งแรกของภาคใต้ เมื่อทุกภาคส่วน “ประชา+รัฐ” ที่เกี่ยวข้องกับบริบทในพื้นที่ภาคใต้ มาร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกัน ประโยชน์ในการพัฒนาเยาวชนให้เข้มแข็งทางความคิด เหตุและผล เจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา ให้ทัดเทียมอารยประเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับแผ่นดินต่อไป สิ่งนี้ย่อมบังเกิดผลดีแน่นอน สุดท้ายนี้ ขอพลังใจจากพี่น้องประชาชนชาวใต้ทุกท่าน เราจะก้าวไปด้วยกันเพื่อภาคใต้ และประเทศไทย

สำหรับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ บริเวณเขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ จึงสามารถเป็นแหล่งศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดี และเหมาะในการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษาในวิทยาเขตภาคใต้ รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทย มีวิว ทิวทัศน์โดยรอบที่สวยงาม มองเห็นทะเลทั้งทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยอีกด้วย ที่สำคัญ สามารถใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งภาคใต้จะมีสภาพท้องฟ้าที่เอื้ออำนวยมากกว่าภูมิภาคอื่น

DSC_1857_resize.JPGDSC_1903_resize.JPGDSC_1761_resize.JPGDSC_1793_resize.JPG

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)