ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนธันวาคม 2560


3 ม.ค. 2561

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ เดือนธันวาคม 2560

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจ ในเดือนธันวาคม 2560 โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนภาคครัวเรือน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 52.90  เพศชาย ร้อยละ 47.10 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 33.80 และมีระดับการศึกษาปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 31.20

005.jpg

ผศ.ดร.วิวัฒน์  จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนในพื้นที่ภาคใต้ เดือนธันวาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ส่วนหนึ่งมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน  และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาวรวมทั้งวันหยุดปีใหม่ด้วย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โอกาสในการหางานทำ/ได้งานใหม่ รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า รายจ่ายที่เกี่ยวข้องด้านอสังหาฯ และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เนื่องมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น จากการจัดเลี้ยงฉลองปีใหม่ของหน่วยงานภาครัฐ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมทั้งรายจ่ายจากการท่องเที่ยวและเดินทางพักผ่อนกับครอบครัวในช่วงวันหยุดปีใหม่ซึ่งติดต่อกันหลายวันอีกด้วย

อย่างไรก็ตามรายได้จากการทำงาน มีความเชื่อมั่นลดลง  เนื่องจากรายได้จากภาคเกษตรลดลง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งรัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยออกมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยจะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2561 

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 34.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 39.70 และ 49.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 32.40 รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า คิดเป็นร้อยละ 28.20 และ 15.40 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ หนี้สินครัวเรือน และราคาสินค้า ตามลำดับ