ไอเดียเยี่ยม ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ ผลงานคณะวิศวฯ มทร.ศรีวิชัย คว้ารางวัลระดับประเทศ


6 ม.ค. 2561

ไอเดียเยี่ยม ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ ผลงานคณะวิศวฯ  มทร.ศรีวิชัย คว้ารางวัลระดับประเทศ

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย รับรางวัลชนะเลิศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำ 2560 จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ผลงาน ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ

21688042_10213258366147300_8317273680018340743_o.jpg

อ.พิทักษ์ สถิตวรรธนะ เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา คิดประดิษฐ์ตู้เพาะเห็ดและชุดไมโครคอนโทรลเลอร์ ควบคุมอุณหภูมิ  เพราะการเพาะเห็ดนางฟ้าให้ผลผลิตมาก ปัจจัยสำคัญคืออุณหภูมิในก้อนถุงเห็ดกับการวางเรียง รองลงมาคือการสเปรย์น้ำให้เหมาะสม ไม่ปล่อยให้ชื้นหรือแห้งจนเกินไป หากให้ชาวบ้านใช้แค่ตัววัดอุณหภูมิ ต้องเดินบ่อยๆ นอกจากเสียเวลา บางครั้งยังให้น้ำช้าหรือให้มากเกินไป


“จึงนำชุดไมโครคอนโทรลเลอร์ควบคุมอุณหภูมิที่ผลิตในไทย มาใช้วัดอุณหภูมิการเพาะเห็ดนางฟ้านางรม เห็ดนางนวล เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดภูฐาน และเห็ดหลินจือ แล้วเขียนโปรแกรมขึ้นมาตรวจวัดอุณหภูมิ และให้น้ำแบบอัตโนมัติ”


อ.พิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบครั้งแรกใช้ตุ่มเพาะเห็ด แต่เนื่องจากมีปัญหาต้องคอยเปิดให้อากาศระบายได้ เลยต้องออกแบบใหม่...เป็นตู้เห็ดทำจากอะลูมิเนียม ไม่เกิดสนิม ผนังทุกด้านใช้แผ่นฉนวนกันความร้อน ด้านบนมีช่องระบายอากาศทั้ง 4 ด้าน มีขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 80 ซม. สูง 100 ซม. เหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่อาศัยจำกัด ต้องการเพาะเห็ดไว้กินในครัวเรือน


ส่วนวิธีการใช้งาน หลังเรียงถุงเห็ดเป็นรูปตัว U จำนวน 130-140 ถุงเข้าตู้เรียบร้อยแล้ว ให้นำสายวัดไมโครคอนโทรลเลอร์วางใต้ถุงเห็ดชั้นบนสุดใช้เพียงตัวเดียวเพื่อวัดอุณหภูมิในกองเห็ดว่ามีความร้อนแค่ไหน หากอุณหภูมิเกิน 32 องศาเซลเซียส ระบบสั่งงานให้ปั๊มดึงน้ำจากถังพักสเปรย์น้ำในตู้ทันที โดยไม่ต้องมีคนมากดปุ่มสั่งงานแต่อย่างใด


และเมื่อสเปรย์น้ำได้อุณหภูมิที่เหมาะสม ระบบจะหยุดให้เอง แต่จะมีน้ำหลงเหลือค้างอยู่ในระบบท่อ บวกกับละอองเห็ดในตู้จะทำให้เกิดกลิ่นอับ อ.พิทักษ์ แนะวิธีแก้ปัญหา หลังเก็บเห็ดครั้งแรกหมดให้ใส่น้ำอีเอ็ม และสารสกัดสมุนไพรจากธรรมชาติลงในบ่อพักน้ำ นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหามด แมลง เข้าไปแทะกัดถุงก้อนเห็ดได้ด้วย


สนใจตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ  สอบถามข้อมูล โทรศัพท์ 0-7431-7168  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย 


CiHZjUdJ5HPNXJ92GOy8sSkkxEasJLI6Bv.jpg4DQpjUtzLUwmJZZPDdCoEFndeAAkWwDu4WVzMzOBEwvL.jpg
ข้อมูลโดย https://www.thairath.co.th/content/1086372