อย่าพลาด สดร. ชวนส่องสุริยุปราคาบางส่วน เช้า 9 มีนาคม 2559 ที่หาดสมิหลา


25 ก.พ. 2559

ตื่นตา! อย่าพลาด! สดร. ชวนส่องสุริยุปราคาบางส่วน เช้า 9 มีนาคม 2559 นี้ ตั้งกล้อง 5 จังหวัด พร้อมเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 จุด ทั่วประเทศสมเด็จพระเทพ ฯ​ เสด็จ ฯ​ ทอดพระเนตร สุริยุปราคาเต็มดวงที่อินโดนีเซีย สดร. ตั้งกล้องถวาย พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์

12715951_987674001324013_9152197841807909298_o.jpg

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดใหญ่ตั้งจุดสังเกตการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เช้าตรู่พุธที่ 9 มีนาคมนี้ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา โคราช และสงขลา พร้อมระดมเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 แห่งจัดพร้อมกันทั่วประเทศ ย้ำคนไทยไม่ควรพลาด รออีกทีสามปีข้างหน้า โอกาสนี้  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยดาราศาสตร์ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ เกาะเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สดร. จัดทีมตั้งกล้องทอดพระเนตร พร้อมถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ชมผ่าน www.narit.or.th ด้วย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยแผนการทำงานของสดร. เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย เช้าวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 ว่า สดร. เตรียมพร้อมตั้งจุดสังเกตุการณ์จุดใหญ่ 5 จุดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ที่สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์/ เชียงใหม่ ที่ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่/ ฉะเชิงเทรา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา อำเภอแปลงยาว/ นครราชสีมา ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สงขลา ที่ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อำเภอเมือง ซึ่งเป็นจุดสังเกตการณ์ที่จะได้เห็นคราสการบังมากที่สุดในห้าจุดนี้

แต่ละจุดตั้งกล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากสดร. คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งได้รับกล้องโทรทรรศน์ สื่อการเรียนรู้ และอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้า จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ในปีที่ผ่านมา ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุ 60 พรรษา จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ในชุมชนนับร้อยแห่ง และครั้งนี้ทุกแห่ง สดร. ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตดวงอาทิตย์อย่างปลอดภัย ให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมชมสุริยุปราคาครั้งนี้อย่างเต็มที่  กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. เข้าร่วมฟรี !!! ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ใกล้บ้านท่านได้ที่www.narit.or.th และเฟซบุ๊คแฟนเพจของ สดร. ที่ www.facebook.com/NARITpage 

1.jpg

ภาพหาดสมิหลาที่จังหวัดสงขลา

รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาว่า เป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถคำนวณเวลาและสถานที่เกิดล่วงหน้าได้มานานหลายร้อยปีแล้ว และเรายังคำนวณล่วงหน้าจากนี้ไปได้นับแสนปี เพราะสุริยุปราคา เกิดจากดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้ามาบดบัง      ดวงอาทิตย์ หากดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง ดังเช่นครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงในชุดซารอสที่ 130 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรอินเดีย ผ่านประเทศอินโดนีเซีย สู่มหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน เห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดทางภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 69 และค่อย ๆ เห็นน้อยลงจากใต้ขึ้นเหนือ กรุงเทพมหานครเห็นประมาณร้อยละ 41 และเชียงใหม่ ประมาณร้อยละ 27

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการศึกษาการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ว่า สดร. วางแผนเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองเตอร์นาเต หมู่เกาะโมลุกกะ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมถ่ายทอดสดภาพการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงและเก็บภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงมาฝากชาวไทยด้วย ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยและกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันที่ 9 มีนาคม ทั้งนี้ทีม สดร. ได้จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์ติดฟิลเตอร์กรองแสงพร้อมอุปกรณ์สังเกตการณ์ ถวายพระองค์ท่านด้วย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการดาราศาสตร์ไทยเป็นล้นพ้น

ดร. ศรัณย์ ยังย้ำถึงข้อควรปฏิบัติในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องใช้อุปกรณ์โดยเฉพาะเท่านั้น ห้ามสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าหรือแว่นกันแดดเด็ดขาด เพราะแสงอาทิตย์จะทำลายเซลส์ประสาทตาจนตาบอดถาวรได้ ห้ามสังเกตการณ์ผ่านกล้องทุกชนิด ทั้งกล้องถ่ายรูป กล้องโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ไม่ติดฟิลเตอร์ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มีเลนส์รวมแสง ยิ่งทวีกำลังของแสงอาทิตย์มากขึ้น นอกจากอันตรายแก่ดวงตาแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวจะเสียหายด้วย

วิธีสังเกตการณ์ที่ถูกต้อง หากสังเกตทางตรงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ หรือกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง หรือสังเกตทางอ้อมโดยใช้ฉากรับแสง สังเกตรูปร่างของเงาที่ทาบลงบนฉากนั้น สามารถใช้อุปกรณ์ที่หาได้ใกล้ตัวเช่น กระดาษทึบ เจาะรูเล็ก ๆ ให้แสงลอดผ่าน แล้วทาบเงาลงบนพื้นผิวอื่น จะเห็นเงาที่ทอดลงเป็นวงกลมเว้าไปบางส่วน สัดส่วนเท่ากับขนาดของคราสในเวลานั้น เรียกว่าหลักการของ “กล้องรูเข็ม” กระชอนคั้นกะทิที่มีรูเล็ก ๆ ลำไผ่เจาะรู หรือแม้แต่ร่มไม้ที่มีแสงแดดลอดลงมาเป็นจุดเล็ก ๆ ก็ใช้เป็นจุดสังเกตการณ์ได้ หรือเดินทางไปที่จุดสังเกตการณ์ของ สดร. และเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ก็จะได้สังเกตเงาคมชัด ฉายผ่านกล้องโทรทรรศน์ และยังมีแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์ดำ หรือฟิล์มไมลาร์ ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำทึบ ใช้กรองแสงเพื่อสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ได้โดยตรง นอกจากนี้ สดร. ยังผลิต “แว่นตาดูดวงอาทิตย์” กว่าหมื่นชิ้น เพื่อให้ประชาชนใช้สังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย ณ จุดสังเกตการณ์ทั่วประเทศ

01.jpg

สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ ถ้าพลาดแล้วจะต้องรออีกเกือบสี่ปี คือวันที่ 26 ธันวาคม 2562 และเมืองไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้งในอีก 54 ปี ข้างหน้า วันที่ 11 เมษายน 2613 จะเป็นสุริยุปราคาครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นสุริยุปราคาในชุดซารอสที่ 130 ชุดเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักดาราศาสตร์ทรงคำนวณไว้ได้อย่างแม่นยำ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 และจะสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ที่อำเภอหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจุดเดียวกันที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระราชอาคันตุกะไปทอดพระเนตรนั่นเอง

อาจารย์ชูชาติ  แพน้อย รักษาการผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า “ในจังหวัดฉะเชิงเทรามีความตื่นตัวเรื่องปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมนุมดาราศาสตร์ของโรงเรียนต่างๆ มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์หลากรูปแบบ เพื่อนำมาใช้ในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 9 มีนาคม นี้ คาดว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้จะสร้างความน่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี” ทางด้าน อาจารย์เฉลิมชนม์  วรรณทอง รักษาการผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา กล่าวว่า “ที่จังหวัดสงขลา นับเป็นสถานที่ซึ่งสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดในจุดสังเกตการณ์หลัก  5  แห่ง สดร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตั้งจุดสังเกตการณ์ที่หาดสมิหลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสงขลา คาดว่าจะมีประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจมาร่วมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้อย่างล้นหลาม”

ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปสังเกตการณ์ หรืออยู่ในทำเลฟ้าปิด สามารถติดตามถ่ายทอดสดสุริยุปราคาเต็มดวงจากประเทศอินโดนีเซีย และสุริยุปราคาบางส่วนจากจุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 5 จุดทั่วประเทศได้ ผ่านเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.narit.or.th

ติดตามรายละเอียดปรากฏการณ์สุริยุปราคาและการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์เพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage

2.jpg