สธ.สงขลา ประชุมป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น-ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่


22 ม.ค. 2561

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1/2561

วันนี้ (22 ม.ค. 61) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา จัดประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดสงขลา ครั้งที่ 1/2561 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมีนายแพทย์บุญชัย พิริยกิจกำจร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมแทนในครั้งนี้ พร้อมด้วยส่วนราชการ อาทิ

26.JPG

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา, ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา ,ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา,ผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชนและผู้แทนสถานประกอบกิจการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายแพทย์บุญชัย พิริยกิจกำจร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ประเทศไทยพบการคลอดในวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในจังหวัดสงขลาสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ส่งผลกระทบหลายๆด้านทั้งด้านสุขภาพของบุคคล ครอบครัวชุมชน สังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบเชิงลบทางสุขภาพของทั้งแม่วัยรุ่นและทารก เนื่องจากวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากกว่าหญิงที่มีอายุมากกว่า

เช่นการเสียชีวิตของมารดาและทารก ตลอดไปจนถึงทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มีความเสี่ยงต่อการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา หน้าที่การงาน รวมทั้งรายได้ในอนาคต การขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งถูกทอดทิ้งหรือเติบโตมาอย่างไม่มีคุณภาพ

จากสถานการณ์อัตราการคลอดมีชีพในวัยรุ่นจังหวัดสงขลาปีงบประมาณ 2557 - 2560 พบข้อมูลว่า อัตราการคลอดมีชีพในหญิงอายุ 15-19 ปี พ. ศ. 2557-2560 เท่ากับ 43.11 , 39.26, 19.06 และ 24.98 ตามลำดับ สถิติการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี พ.ศ.2557 - 2560 ร้อยละ 14.93, 19.67, 19.23 และ 20.88 ตามลำดับ และข้อมูลความพร้อมในการตั้งครรภ์ปีงบประมาณ 2560 พบว่ามากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ซ้ำอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยเป็นการตั้งครรภ์โดยมีความพร้อม

สำหรับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีการดำเนินงานโดยใช้กลยุทธ์ DHS ร่วมกับทุกภาคส่วนโดยมีการจัดตั้งคลินิกเพื่อนใจวัยรุ่น ( Youth Friedly Health Service) ในโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอทั้งหมด 17 แห่งและผ่านการรับรองมาตรฐานจากศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลาจำนวน 8 แห่ง และผ่านเกณฑ์มาตรฐานอำเภออนามัยเจริญพันธุ์ จำนวน 7 อำเภอ วัยรุ่นอายุ 15-19 ปีที่ตั้งครรภ์และคลอดได้รับบริการคุมกำเนิดหลังคลอดหรือแท้งก่อน 42 วันตามมาตรฐานโดยได้รับบริการให้คำปรึกษาในคลินิกเพื่อนใจวัยรุ่น ( Youth Friedly Health Service) และให้คำปรึกษาหลังยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการตั้งครรภ์ซ้ำ

รวมถึงการประสานศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) เพื่อบูรณาการการดำเนินงานช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการที่ประสบปัญหา 4 ปัญหาหลักได้แก่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม (คุณแม่วัยใส) การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการตามเงื่อนไข ของการเผชิญปัญหาของแต่ละรายในระดับโรงพยาบาลส่งต่อเครือข่ายเพื่อการดูแลต่อเนื่องและเป็นการรักษาความลับทางการตกลงบริการของกลุ่มที่เผชิญปัญหา

27.JPG25.JPG24.JPG

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว  /ภาพ    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา