ไทยเร่งแก้ทำประมงผิดกฎหมาย


26 ก.พ. 2559

ไทยเร่งแก้ทำประมงผิดกฎหมาย

เรียบเรียงโดย พรรณี  ตั้งใจสถาปัตย์

ประเทศไทยมีการทำประมงเกินศักยภาพของปริมาณสัตว์น้ำมาเป็นเวลานานจากเรือประมงที่มีจำนวนมาก ขาดการควบคุม ขณะเดียวกันยังมีการลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ส่งผลให้จำนวนปริมาณสัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว

001.jpg

ปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้คงความสมบูรณ์และยั่งยืน  โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยูมีความคืบหน้า รวมทั้งร่างพระราชกำหนดการประมง แผนบริหารจัดการประมงทะเล แผนการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ แผนควบคุมและตรวจตราการทำประมงแห่งชาติ แผนการป้องกันการใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ในภาคประมง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนการช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการบริหารจัดการประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของราคากลางในการซื้อขายเรือประมงพร้อมส่วนประกอบ และคณะกรรมการพิจารณากลุ่มประกอบการที่สมควรได้รับเงินชดเชย ในการหยุดออกเรือประมง และความเหมาะสมของวงเงิน นอกจากนี้ ๕ณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ๕ณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) ยังเสนอให้

- การให้ความช่วยเหลือภาระหนี้สิน เนื่องจากาการที่ผู้ประกอบการประมงต้องหยุดออกเรือ ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้ยืมได้

- การชดเชยให้ความช่วยเหลือชาวประมงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้

- มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ จัดให้มีสินเชื่อในอัตราพิเศษ

- การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงที่ถูกกฎหมาย หรือเปลี่ยนอาชีพ

รัฐบาลให้ความสำคัญและกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยูเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไข

ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมมือกันจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยูของไทยขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปในกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการนโยบาย แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย

แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการประมงไอยูยู ประกอบด้วยแผนงานหลัก 6 แผนงาน ได้แก่ การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง, การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง, การจัดทำระบบติดตามเรือ, การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability), การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง และการจักทำแผนระดับชาติในการป้องกันยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้ความควบคุม ซึ่งแผนดังกล่าวสามารถครอบคลุมการแก้ไขปัญหาและการป้องกันการทำประมงไอยูยูของเรือประมงไทย ทั้งภายในน่านน้ำไทยและน่านน้ำต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันสินค้าสัตว์น้ำไอยูยูจากต่างประเทศที่เข้ามายังประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย

ท่านผู้อ่านสามารถส่งไปรษณียบัตร แสดงความคิดเห็นแนะนำรายการได้ที่ส่วนการประชาสัมพันธ์ สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพ 10400 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-618-2323 ต่อ 1626-27